งานเวชศาสตร์ใต้น้ำ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต
Division of Underwater & Hyperbaric Medicine,
Vachira Phuket Hospital
-----------------------------------------

ภูเก็ต เป็นแหล่งดำน้ำที่สวยงามแห่งหนึ่งของโลก รวมทั้งมีทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์ จึงเป็นแหล่งประกอบอาชีพทางทะเลที่สำคัญ จากการศึกษาพบว่ามีผู้ป่วยที่เป็นโรคจากการดำน้ำ (โรคน้ำหนีบ) เพิ่มมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจึงได้อนุมัติให้มีการจัดตั้งห้องปรับบรรยากาศความกดดันสูงขึ้น เป็นแห่งแรก ที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคจากการดำน้ำและโรคอื่น ๆ ที่สามารถรักษาเสริมได้ด้วย ออกซิเจนความกดดันสูง โดยเริ่มเปิดดำเนินการตั้งแต่ 4 พฤศจิกายน 2545

ภารกิจหน้าที่

  • ให้การรักษาผู้ป่วย อันเนื่องมาจากการปฏิบัติงานใต้น้ำ และรักษาผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรับการรักษาใน ห้องปรับบรรยากาศ
  • ดำเนินการดูแล เฝ้าระวังสุขภาพ ผู้ปฏิบัติงานใต้น้ำ นักดำน้ำสันทนาการ และผู้ประกอบอาชีพทางทะเล
  • ให้ความรู้ด้านเวชศาสตร์ใต้น้ำ และโรคที่เกิดจากการลดความกดอากาศแก่ผู้ปฏิบัติงานใต้น้ำ ผู้ประกอบ อาชีพทางทะเลและประชาชนที่สนใจ
  • วิจัย พัฒนา รวบรวมข้อมูล และดำเนินการเกี่ยวกับงานด้านเวชศาสตร์ใต้น้ำ

งานเวชศาสตร์ใต้น้ำ จะให้บริการทั้งด้านเวชกรรมป้องกัน และการรักษาในด้านให้การรักษาด้วยห้องปรับบรรยากาศนั้น นอกจากดำเนินการรักษาผู้ป่วยอันเนื่องมาจากการปฏิบัติงานใต้น้ำแล้ว ยังได้ดำเนินการรักษาผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรับการรักษาในห้องปรับบรรยากาศด้วย นั่นคือการรักษาด้วยออกซิเจนความกดอากาศ สูง (Hyperbaric Oxygen Therapy) ซึ่งเป็นการรักษาเสริมแก่ผู้ป่วย ที่ได้รับการรักษาตามแบบแผนทางอายุรกรรม หรือศัลยกรรมอยู่แล้ว

การรักษาด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูง หมายถึงการรักษาโดยให้ผู้ป่วยหายใจด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์ ภายใต้ความกดบรรยากาศที่มากกว่า 1 บรรยากาศ ภายในห้องปรับบรรยากาศความกดดันสูง (Hyperbaric Chamber)การรักษาผู้ป่วยด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูงนี้ เป็นผลพลอยได้มาจากการใช้ออกซิเจนในการรักษาผู้ป่วย ที่ได้รับอันตรายจากการดำน้ำ ซึ่งการหายใจด้วยวิธีนี้สามารถเพิ่มปริมาณออกซิเจน ที่ละลายสู่ส่วนที่เป็นของเหลว ในเลือด (Plasma) ได้มากกว่าการหายใจด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์ที่บรรยากาศปกติ หลายเท่า ซึ่งเกือบจะเป็นสัดส่วน โดยตรงกับความกดดันที่เพิ่มขึ้น แต่การรักษานี้สามารถเพิ่มความกดบรรยากาศ ได้ไม่เกิน 2.8 บรรยากาศ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการเกิดภาวะออกซิเจเป็นพิษต่อระบบประสาทส่วนกลาง (Oxygen Toxicity)


โรคและภาวะบ่งชี้ในการรักษาด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูง
ตามที่ได้รับการยอมรับจากสมาคมเวชศาสตร์ใต้น้ำ และเวชศาสตร์ความกดดันบรรยากาศสูงของสหรัฐอเมริกา (Undersea and Hyperbaric Medical Society) ณ ปัจจุบันได้แก่

  • โรคฟองแก๊สอุดตันในหลอดเลือดแดง (Air of Gas Embolism)
  • โรคคาร์บอนมอนนอคไซด์เป็นพิษ / การสำลักควันไฟ (CO Poisoning and Smoke Inhalation)
  • การติดเชื้อจากเนื้อเยื่อจากแบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจน (Clostridial Gas Gangrene)
  • การบาดเจ็บของเนื้อเยี่อเนื่องจากการถูกบดขยี้ (Crush injury : Compartment Syndrome ,Acute Traumatic Ischemia)
  • โรคลดความกด หรือ โรคน้ำหนีบ (Decompression Sickness)
  • โรคแผลหายยาก (Problem Wound) ได้แก่ แผลเบาหวาน,แผลเนื่องจากการกดทับ,แผลเนื่องจากการไหลเวียนในหลอดเลือดดำหรือหลอดเลือดแดงไม่ดี
  • โลหิตจางเนื่องจากเสียเลือดจำนวนมาก (Exceptional Blood Loss)
  • การติดเชื้อและมีการตายของเนื้อเยื่อ (Necrotizing Soft Tissue Infection)
  • การติดเชื้อเรื้อรังของเยื่อหุ้มกระดูก (Refractory Osteomyelitis)
  • การปลูกถ่ายผิวหนังและกล้ามเนื้อ (Compromised Skin Graft or Flap)
  • การได้รับบาดเจ็บจากรังสื (Radiation Injury) กระดูกและเนื้อเยี่อตายเนื่องจากได้รับรังสี (Osteoradionecrosis /ORN) ,เนื่อเยื่อตายเนื่องจากได้รับรังสี (Soft Tissue Radionecrosis / STRN) ,ฟันผุเนื่องจากได้รับรังสี (Radiation Caries)
  • แผลไหม้จากความร้อน (Thermal Burn)
  • โรคฝีในสมอง (Intracranial Abscess)

ความรู้เกี่ยวกับโรคที่เกิดจากการดำน้ำ
กลุ่มอาการอันเนื่องจากถุงลมภายในปอดฉีกขาด (Pulmo-nary Over Inflation Syndrome) เกิดจากการหายใจด้วยอากาศที่มีความกดดันสูงใต้น้ำแล้วขึ้นสู่ผิวน้ำ โดยระบายอากาศออกอย่างไม่เพียงพอ มักพบในนักดำน้ำที่ใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจใต้น้ำ (SCUBA) ที่เกิดอุบัติเหตุใต้น้ำแล้วตกใจขึ้นสู่ผิวน้ำโดยการกลั้นหายใจ ทำให้อากาศซึ่งขยายตัวอยู่ในถุงลมปอดระบายออกทางลมหายใจไม่ทัน เป็นเหตุให้ถุงลมปอดฉีกขาด เกิดการบาดเจ็บของเนื้อเยี่อทรวงอก แล้วอากาศบางส่วนอาจหลุดเข้าไปในหลอดเลือดแดง (Arterial Gas Embolism)
อาการ มีอาการเล็กน้อยไปจนถึงรุนแรงมาก เช่น เสมหะเป็นฟองปนเลือด เดินโซเซ สับสน ตาพร่ามัว อัมพาต เป็นลมหมดสติ ชัก หยุดหายใจ บางรายอาการรุนแรงพบว่าหมดสติก่อนถึงผิวน้ำ

โรคลดความกด หรือโรคน้ำหนีบ (Decompression Sickness หรือ Bends หรือ Caisson Disease) เป็นโรคซึ่งเกิดจากการที่แก็สละลาย เข้าสู่เนื้อเยื่อในร่างการยขณะดำน้ำแล้วแก๊ซนั้นรวมตัวกันเป็นฟองอากาศอยู่ภายในเส้นเลือด และเนื้อเยื่อต่าง ๆ เนื่องจากการดำน้ำที่ลึกหรือนานเกินกำหนด แล้วขึ้นสู่ผิวน้ำโดยไม่หยุดลดความกดใต้น้ำตามที่ตารางลดความกดกำหนดไว้ หรือไม่ได้ปฏิบัติตามกฎการดำน้ำส่วนใหญ่อาการจะเริ่มภายใน 1 ชั่วโมง สิ่งเปรียบเทียบที่เห็นได้ชัด คือ แก๊สที่ละลายอยู่ในน้ำโซดา ขณะที่ฝาขวดถูกเปิดออก เปรียบได้กับการลดความกดดันลงอย่างรวดเร็ว มีผลทำให้แก็สที่ละลายอยู่นั้นรวมตัวกันผุดเป็นฟองขึ้นมา

อาการอาจแบ่งได้ 2 ระดับ คือ

  • อาการน้อย ได้แก่ อ่อนเพลียมาก มีผื่นคัน ปวดตามข้อต่าง ๆ และกล้ามเนื้อ มีอาการบวมเฉพาะที่
  • อาการรุนแรง ได้แก่ อาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก เดินเซ อัมพาต หรือหมดสติ

*** การรักษาเบื้องต้น ทั้ง 2 กรณี ควรนำผู้ป่วยเข้าห้องปรับบรรยากาศความกดดันสูงโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะผู้มีอาการอันเนื่องจากถุงลมภายในปอดฉีกขาด การรักษาจะได้ผลดีมากหากสามารถเริ่มรักษาได้ในเวลาไม่เกิน 6 ชั่วโมง

ชนิดและลักษณะของห้องปรับอากาศ
ปัจจุบันโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ได้ให้บริการห้องปรับบรรยากาศความกดดันสูงชนิดหลายที่นั่ง มีลักษณะดังนี้

  • ลักษณะคล้ายแคปซูลขนาดใหญ่ทำด้วยเหล็กหนา
  • ขนาดประมาณ 2.8 x 6 เมตร
  • สามารถทนความกดได้มากกว่า 6 บรรยากาศ
  • มีประตูเข้าออกได้ 2 ทาง มีช่องกระจกใสมองผ่านได้
  • มีระบบสื่อสารติดต่อกับคนภายนอกได้ทางโทรศัพท์และโทรทัศน์วงจรปิด ทั้งยังสามารถรับฟังวิทยุ-เทปได้
  • สามารถจุผู้ป่วยได้สูงสุดครั้งละ 14 คน
  • ผู้ป่วยสามารถรับออกซิเจนบริสุทธิ์ โดยใช้อุปกรณ์ช่วยในการหายใจ

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment