Photobucket - Video and Image Hosting

Photobucket - Video and Image Hosting

Photobucket - Video and Image Hosting





Photobucket - Video and Image Hosting



"ทิศเหนืออับลม ทิศใต้รับลม" ก็จริงอยู่นะ แต่คอนโดเป็นห้องที่ต้องปิดประตู ถ้าไม่เปิดทางเข้าออกให้ลม ลมจะพัดผ่านห้องได้รึ?
ครั้นจะเปิดประตูทั้งวัน ก็จะโดนเพื่อนบ้านประณามได้ ฉะนั้น การติดพัดลมระบายอากาศ จึงน่าจะสำคัญ เพื่อให้อากาศในห้องหมุนเวียน

วิกรม แสงคิสิริ, สสิธร เทพตระการพรสำนักโรคจากการประกอบอาชีพ และสิ่งแวดล้อม
กลุ่มอาการที่เกิดจากการทำงานในอาคารปิด (Sick Building Sybdrome)

ปัจจุบัน ในหลายประเทศทั่วโลก ได้ให้ความสนใจเรื่องคุณภาพอาการภายในอาคารเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เนื่องจากคนส่วนใหญ่ ใช้เวลาอยู่ในอาคารเกือบร้อยละ 90 ของเวลาในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นบ้าน โรงเรียน สถานที่ทำงาน โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า และในอาคารอื่นๆ ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดว่า ร้อยละ 30 ของอาคารทั่วโลกอาจมีปัญหาด้านคุณภาพ อากาศภายในอาคาร (Indoorr Air Quality) ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหากลุ่มอาการ ที่เกิดจากการทำงานในอาคารปิดได้

องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (US EPA) ได้อธิบายความหมายของ "Sick Byilding Syndrome, SBS" หรือกลุ่มอาการป่วยว่า เป็น "สถานการณ์ที่คนทำงานในอาคาร เกิดอาการผิดปกติทางสุขภาพ หรือเกิดผลกระทบต่อความสบาย ในการทำงาน เนื่องจากสาเหตุหลากหลาย ที่ดูเหมือนจะมีความสัมพันธ์ กับช่วงเวลาที่อยู่ในอาคาร แต่ไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่นอนได้ ปัญหาอาจเกิดขึ้น เฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของอาคาร หรือทุกส่วนของอาคารก็ได้ อาคารที่พบ ได้แก่ คัดจมูก น้ำมูกไหล เคืองตา ไอ แน่นหน้าอก อ่อนล้า ปวดศีรษะ อาการป่วยดังกล่าว เป็นอาการที่ไม่มีลักษณะเฉพาะโรค และมักจะหายเมื่อออกจากอาคาร"

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้คำนิยามของคำ Sick Byilding Syndrome ว่าเป็นอาหารระคายเคืองของผิวหนัง และเยื่อบุที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน รวมถึงอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย และไม่มีสมาธิ ซึ่งรายงานจากผู้ที่ทำงานในอาคารสำนักงานใหม่ และอาคารที่ผู้อาศัยอย่างน้อยร้อยละ 10-30 มีอาการระคายเคือง เจ็บป่วย และอาการขางเคียงอื่น ที่อาจมีสาเหตถจากอาคารที่อยู่ แต่ไม่สามารถตรวจพบอาการทางคลินิกได้

นอกจากนี้ มีคำอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีก เช่น Tight Building Syndrome หมายถึง ความเจ็บป่วยที่เกิดจากการทำงาน อยู่ในอาคารที่มีการระบายอากาศไม่เพียงพอ ซึ่งมีความหมายที่แคบกว่า หรือความเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับอาคาร (Building-ralted Illness) และความเจ็บป่วยที่เกิดจากสาเหตุจำเพาะในอาคาร (Specific Building-ralted Illness) โดย 2 คำหลังนี้ ใช้เฉพาะในกรณีที่ทราบสาเหตุของโรค เช่น เกิดจากสารแขวนลอยในอากาศภายในอาคาร ฝุ่น อินทรีย์ โปรตีนจากสัตว์ หรือเชื้อโรค ซึ่งแม้ว่า ผู้ป่วยได้ออกจากอาคารแล้ว จะค้องใช้เวลาพักรักษาตัว ตัวอย่างเช่น โรคลิจิแนร์ (Legionnaire's disease) โรคภูมิแพ้ และไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น

ในอดีต ช่วงก่อนเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งแรก (ปี ค.ศ.1973) การออกแบบอาคาร ตลอดจนระบบต่างๆ ภายในอาคารมักเน้นความสบาย ของผู้อาศัยเป็นหลัก โดยไม่คำนึงถึงเรื่องการประหยัดพลังงานมากนัก เนื่องจากราคาน้ำมัน และพลังงานไฟฟ้ายังมีราคาถูกอยู่ อาคารในยุคปัจจุบันนั้นจึงมีลักษณะ
  • โครงสร้างอาคารไม่แน่นหนามากนัก มีช่องระบายอากาศโดยรอบอาคารค่อนข้างมาก
  • การส่องสว่างค่อนข้างสม่ำเสมอ และเพียงพอต่อความต้องการโดยทั่วทุกส่วนของอาคาร
  • ระบบปรับอากาศก็ควบคุมอุณหภูมิ ให้อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ทำให้ผู้อาศัยรู้สึกสบาย และมีการนำอากาศบริสุทธิ์ภายนอกเข้าสู่ภายใน ค่อนข้างมาก

ต่อมาภายหลังวิกฤตการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้การออกแบบตัวอาคาร และระบบต่างๆ ภายในได้เปลี่ยนแปลงไป โดยเน้นความสำคัญด้านการประหยัดพลังงานเป็นหลัก ส่วนความสบายนั้น ลดลงมาอยู่ในระดับผู้อาศัยส่วนใหญ่ ยอมรับได้เท่านั้น กล่าวคือ

  • ตัวอาคารก่อสร้าง ให้แน่นหนามากขึ้น เพื่อลดการรั่วของอากาศร้อน ชื้น ภายนอกเข้าสู่อาคาร
  • ใช้ฉนวนกันความร้อน เพื่อลดการถ่ายเทความร้อนจากภายนอกอาคาร ซึ่งฉนวนเหล่านี้อาจก่อให้เกิดสารปนเปื้อน ในอากาศ ภายในอาคารได้ เช่น สารก่อความระคายเคือง สาร formaldehyde
  • ลดความเข้มในการส่องสว่างบริเวณทั่วไปของอาคารลง
  • ใช้ระบบการจัดการพลังงาน (Energy Management System) เพื่อควบคุมปริมาณการใช้พลังงาน ของอาคารโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบปรับอากาศซึ่งใช้พลังงานมากที่สุดในตัวอาคาร เช่น Program Optimum Start / Stop
  • นำอากาศบริสุทธิ์ภายนอกเข้าสู่อาคารน้อยลง โดย ASHRAE (American Society of Heating, Refrigerating, and Air-Conditioning Engineers) กำหนดอัตราการระบายอากาศต่ำสุด เพื่อการอนุรักษ์พลังงานไว้ที่ 5 ลูกบาศก์ฟุต/นาที/คน (cfm/คน) ซึ่งแต่เดิมได้กำหนดไว้ที่ 15 cfm/คน ด้วยวัตถุประสงค์ในเบื้องต้น คือ เพื่อเจือจาง และลดกลิ่นจากตัวคน
ในกรณีของการนำอากาศจากภายนอกอาคาร เข้ามาด้วยอัตรา 5 cfm/คน นั้น พบว่า ไม่เพียงพอต่อการคงไว้ซึ่งสุขภาพ และความสบายของผู้อยู่อาศัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากระบบ HVAC (Heating, Ventilating, and Air Conditioning) ไม่สามารถกระจายอากาศไปสู่ทุกคนได้ อย่างมีประสิทธิภาพด้วยแล้ว สิ่งเหล่านี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญ ของปัญหากลุ่มอาการที่เกิดจากการทำงาน ในอาคารปิด และในท้ายที่สุด ASHRAE ก็ได้ปรับค่ามาตรฐานใหม่ โดยคำนึงถึงคุณภาพอากาศภายในอาคาร ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ ควบคู่ไปกับการลดการใช้พลังงานด้วย กล่าวคือ ให้มีอากาศเข้าภายในอาคาร 15 cfm/คน สำหรับพื้นที่ในสำนักงานให้เป็น 20 cfm/คน โดยไม่คำนึงว่า มีการสูบบุหรี่หรือไม่ และสูงถึง 60 cfm/คน ในบางพื้นที่ขึ้นอยู่กับกิจกรรม ตามปกติในพื้นที่นั้นๆ เช่น ห้องสูบบุหรี่ (ASHRAE Standard 62-1989)

ประวัติศาสตร์ของ Indoor Air Quality

เริ่มตั้งแต่สมัย 500 ปี ก่อนคริสตศักราช โดยนักปราชญ์ชาวกรีก ได้ให้ความสำคัญ และมีการกล่าวถึงเรื่อง คุณภาพอากาศภายในเหมือง
ในสมัยโรมัน Pliny the Elder ได้แนะนำให้มีการใช้หน้ากากป้องกันฝุ่น ขณะทำการตัดหิน หรือทำงานในเหมืองแร่ใยหิน
ในปี 1858 ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า อัตราการแลกเปลี่ยนอากาศ ภายในโรงพยาบาล ควรเป็น 25 cfm/คน เพื่อป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล

ในปี 1895 มีการใช้สารฟอร์มัลดีไฮด์กันอย่างกว้างขวาง ในการฉีดพ่นฆ่าเชื้อโรค

ในช่วงหลังปี 1973 ซึ่งเป็นช่วงเกิดมาตรการประหยัดพลังงานดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เป็นผลให้การระบายอากาศภายในอาคาร ไม่เพียงพอ เกิดเป็นปัญหาสะสมมลพิษ ภายในอาคาร ดังนั้น หน่วยงานต่างๆ ในต่างประเทศ เช่น US EPA, ASHRAE etc. และหน่วยงานระหว่างประเทศ เช่น WHO จึงได้กำหนดค่ามาตรฐานด้าน Indoor Air Quality เพื่อใช้เป็นค่าแนะนำในการควบคุม คุณภาพอากาศภายในอาคาร
สำหรับประเทศไทยนั้น ยังไม่มีหน่วยงานใด กำหนดค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศ ภายในอาคารโดยตรง แต่ก็มีกฎหมายบางฉบับที่เกี่ยวข้อง คือ
กฎกระทรวงฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 หมวด 2 ระบบระบายอากาศ ระบบไฟฟ้า และระบบป้องกันเพลิงไหม้ ได้กำหนดอัตราการระบายอากาศในอาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษไว้ ได้แก่ โรงพยาบาล ห้องพักในโรงแรม หรืออาคารชุด สำนักงาน ฯลฯ

  • ประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ 6/2538 เรื่อง กำหนดจำนวนคนต่อจำนวนพื้นที่ ของอาคารที่พักอาศัยที่ถือว่า มีคนอยู่มากเกินไป ภายใต้พระราช
  • บัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 ได้กำหนดพื้นที่ในอาคารให้มี ไม่น้อยกว่า 3 ตารางเมตร/คน และได้กำหนดเช่นเดียวกันนี้ สำหรับพื้นที่ของคนงานก่อสร้าง และของอาคารโรงงานด้วย ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 7/2538 และ 8/2538 ตามลำดับ
  • พระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 ซึ่งกำหนดสถานที่ หรือยานพาหนะใดๆ ที่เป็นสถานที่สาธารณะ เป็นเขตปลอดบุหรี่ และได้กำหนดสภาพ ลักษณะ และมาตรฐานของเขตปลอดบุหรี่ เกี่ยวกับการระบายควัน หรืออากาศ และได้มีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 10 พ.ศ.2545 บังคับให้สถานที่สาธารณะ 19 ประเภท ซึ่งขณะทำการ และให้บริการเป็นเขตปลอดบุหรี่ 100% ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2545

การดำเนินงานด้านคุณภาพอากาศ ภายในอาคารในประเทศไทย

การดำเนินการตรวจวัดคุณภาพอากาศภายในอาคาร เท่าที่มีการสืบค้นได้นั้น ได้มีการเริ่มต้นอย่างจริงจังตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 ดังนี้

ปี พ.ศ.2536 มีการสำรวจก๊าซเรดอน ในอาคารในประเทศไทย เพื่อให้ทราบการกระจายและความเสี่ยง เท่าที่มีข้อมูลรายงานจนถึงปัจจุบัน มีการสำรวจไปแล้ว 20 จังหวัด ผลปรากฎว่า พบก๊าซเรดอนในทุกอาคาร ที่สำรวจในทุกจังหวัด และจังหวัดที่มีแนวโน้มว่า มีก๊าซเรดอนสูงพบว่า อยู่ในภาคเหนือ อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องสำรวจ ให้ได้พื้นที่มากกว่านี้ จึงจะสามารถสรุปได้แน่นอน (สมชัย บวรกิตติ และปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ 2543)

ปี พ.ศ.2542 กองอนามัยสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการตรวจวัดคุณภาพอากาศ ภายในบริเวณศูนย์อาหาร และอาคารจอดรถของอาคารสาธารณะ และห้างสรรพสินค้า จำนวนทั้งสิ้น 11 แห่ง พบว่า บริเวณศูนย์อาหารของห้างสรรพสินค้า 3 ใน 9 แห่ง มีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกินค่ามาตรฐาน กำหนด โดยมีค่าอยู่ระหว่าง 1,170-1,302 ppm (ASHRAE กำหนดให้มีได้ไม่เกิน 1,000 ppm) สำหรับบริเวณอาคารจอดรถ 6 ใน 11 แห่ง พบปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ มีค่าอยู่ระหว่าง 12-46 ppm ซึ่งเกินค่ามาตรฐานกำหนด (ASHRAE กำหนดให้มีได้ไม่เกิน 9 ppm) และปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก ที่สามารถเข้าสู่ทางเดินหายใจได้ (PM10) ในอาคารจอดรถ 3 แห่ง มีค่าอยู่ระหว่าง 154-210 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินค่ามาตรฐานกำหนด (US EPA กำหนดค่าตลอด 24 ชั่วโมง ให้มีได้ไม่เกิน 150 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร)

ปี พ.ศ.2542-2543 สถานการณ์ของแหล่งเพาะเชื้อ ลีจิโอเนลลา นิวโมฟิวลา ภายในอาคาร ซึ่งจากรายงานการศึกษา ของสำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย โดยการตรวจสอบทางกายภาพ และเก็บตัวอย่างน้ำ จากหอหล่อเย็น บ่อ หรือถังพักน้ำ ถาดรองรับจากเครื่องปรับอากาศ ก็อกน้ำ และฝักบัว จากแหล่งต่างๆ ได้แก่ อาคาร โรงแรมในเขตกรุงเทพฯ 28 แห่ง ต่างจังหวัด 3 แห่ง รวม 31 แห่ง และเข้าทำการตรวจสอบการดำเนินงาน มาตรการป้องกัน การระบาดของเชื้อลีจิโอเนลลาในโรงแรม 24 แห่ง พบว่า โรงแรมส่วนใหญ่มีมาตรการในการควบคุมเชื้อลีจิโอเนลลา โดยการใช้สารเคมีในการควบคุม เชื้อลีจิโอเนลลา โดยการใช้สารเคมีในการควบคุมเชื้อ และมีการขัดล้างทำความสะอาด นอกจากนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ทำการตรวจวิเคราะห์ หาเชื้อลีจิโอเนลลาในโรงแรม 7 แห่ง ผลการวิเคราะห์พบเชื้อลีจิโอเนลลา ในโรงแรมในเขตกรุงเทพฯ 4 แห่ง โรงแรมในต่างจังหวัดอีก 1 แห่ง ส่วนอาคารสำนักงาน 14 แห่ง ตรวจพบเชื้อลีจิโอเนลลา 1 แห่ง สำหรับอาคารในโรงพยาบาล 2 แห่ง ตรวจพบเชื้อลีจิโอเนลลา 1 แห่ง ส่วนบ้านพักนักกีฬา 2 แห่ง ตรวจไม่เชื้อลีจิโอเนลลา

ปี พ.ศ.2543 ได้มีการดำเนินการสำรวจสารคุกคาม จากการสูบบุหรี่ ในห้องพักสูบบุหรี่ที่ ท่าอากาศยานกรุงเทพฯ โดยดำเนินการเก็บตัวอย่างอากาศ เพื่อวิเคราะห์หาปริมาณฝุ่นแขวนลอย แคดเมียม สารหนู และไอระเหย ได้แก่ โทลูอีน ฟีนอล และอะซีโตน ผลการตรวจไม่พบปริมาณของวัสดุ สารที่สำรวจสูงเกินขีดความปลอดภัย ยกเว้นปริมาณฝุ่นทุกขนาดที่พบว่า มีปริมาณภายในห้องสูบบุหรี่สูงกว่าภายนอกห้อง การศึกษาให้ผลสรุปว่า ผู้ที่ใช้ห้องพักสูบบุหรี่ที่ท่าอากาศยานกรุงเทพฯ มีความปลอดภัยจากวัสดุสาร ที่เกิดจากการสูบบุหรี่ (วิกรม เสงคิสิริ, สมชัย บวรกิตติ 2543)

ปี พ.ศ.2544 กองอาชีวอนามัย กรมอนามัย (เปลี่ยนเป็นสำนักโรคจากการประกอบอาชีพ และสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค ตั้งแต่ปี 2546) ได้เริ่มดำเนินการตรวจวัดปริมาณก๊าซ และไอระเหยของสารเคมี ที่ใช้ในโรงพยาบาล ได้แก่ ก๊าซที่ใช้ในการดมยาสลบ (โรงพยาบาลส่วนใหญ่ใช้ Nitrous oxide และ Halothane และเมื่อรั่วไหลออกจากระบบ และปนเปื้อนอยู่ในบรรยากาศ ภายในโรงพยาบาลจะเรียกรวมๆ เป็น Waste Anesthetic Gas, WAGs) รวมถึงสารเคมีอื่นๆ ที่ใช้ในการทำความสะอาด และฆ่าเชื้อโรค อุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์ เช่น Formaldehyde, Glutaraldehyde เพื่อประเมินความเสี่ยงด้านอาชีวอนามัย และความปลอดภัยในการทำงาน ในโรงพยาบาล ผลพบว่า เฉพาะห้องผ่าตัดที่มีระบบกำจัดก๊าซทิ้ง มีระดับค่า WAGs อยู่ในระดับที่ปลอดภัย ทั้งนี้สถาบันอาชีวอนามัย และความปลอดภัยแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (NIOSH) กำหนดค่าความเข้มข้นเฉลี่ย 8 ชั่วโมง การทำงานของก๊าซ Nitrous oxide ไม่ควรเกิน 25 ppm และ Halothane ไม่ควรเกิน 2 ppm จนถึงปัจจุบัน ได้ดำเนินการตรวจประเมินในโรงพยาบาลไปแล้ว 9 แห่ง และโรงพยาบาล 4 ใน 9 แห่งนี้ ได้ดำเนินการปรับสภาพการทำงาน โดยการติดตั้งระบบกำจัดแก๊ซทิ้งไปเรียบร้อยแล้ว (สสิธร เทพตระการพร และคณะ 2545)

ปี พ.ศ.2544-2545 สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย ได้จัดทำโครงการจัดทำหลักเกณฑ์ และมาตรฐานควบคุมเหตุรำคาญ และกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 ประเภทกิจการโรงแรม หรือกิจการอื่นในทำนองเดียวกัน โดยได้ดำเนินการสำรวจโรงแรมทั้งสิ้น 20 แห่ง พบว่า อัตราการไหลของอากาศ จากภายนอกเข้าสู่ภายในของโรงแรมขนาดใหญ่ และขนาดกลางกว่าร้อยละ 80 ต่ำกว่าค่าที่เสนอแนะโดย ASHRAE และกว่าร้อยละ 30 ของโรงแรมขนาดใหญ่ และขนาดกลาง มีระดับก๊าซ CO2 ซึ่งเป็นดัชนีที่บ่งถึงการไหลเวียนอากาศ มีค่าสูงเกินค่าที่กำหนดโดย OSHA (Occupational Safety and Health Administration กำหนดไว้ที่ 800 ppm) นอกจากนี้ยังพบว่า สถานประกอบการควบคุมการสูบบุหรี่ในอาคาร อย่างจริงจัง และจากผลการตรวจวัดปริมาณความเข้มข้น ของอนุภาคขนาดเล็ก (PM10) ซึ่งแหล่งที่มาที่สำคัญ คือ ควันบุหรี่ พบว่า กว่าร้อยละ 90 ของพื้นที่ที่ตรวจวัด มีระดับสูงเกินค่ามาตรฐาน

นอกจากนี้ ในปี พ.ศ.2545 กองอนามัยสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการสุ่มตรวจสอบ คุณภาพอากาศภายในร้านอาหาร ที่มีการประกอบปรุงบนโต๊ะอาหารจำนวน 12 แห่ง พบว่า ร้านอาหารที่มีการประกอบปรุงบนโต๊ะ ด้วยแก๊สมีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุก (เฉลี่ย 1,411 ppm) รองลงมาคือ การใช้ถ่านเป็นเชื้อเพลิง (เฉลี่ย 857 ppm) และการใช้ไฟฟ้ามีค่าต่ำสุด (เฉลี่ย 717 ppm) ทั้งนี้ระดับความเข้มข้น ของ CO2 ที่อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ คือ 800-1,000 ppm นอกจากนี้ปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) พบมากที่สุดในกรณีของการใช้ถ่าย (เฉลี่ย 5.18 ppm) รองลงมาคือ การใช้แก๊ส และไฟฟ้า พบค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.58 ppm และ 2.36 ppm ตามลำดับ สำหรับระดับความเข้มข้นของ CO ที่อาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพได้คือ >5 ppm จากผลการตรวจวัดดังกล่าว สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร จึงได้แนะนำให้ร้านอาหารดังกล่าว ดำเนินการปรับปรุงโดยการทำความสะอาด ระบบระบายอากาศ และเพิ่มอัตราระบายอากาศภายในร้าน

สำหรับในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น สถาบันอาชีวอนามัย และความปลอดภัยแห่งชาติ (National Institute of Occupational Safety and Health, NIOSH) ได้ทำการศึกษาข้อร้องเรียน อันเนื่องมาจากคุณภาพอากาศ ในอาคารในช่วงทศวรรษที่ 1970 และสามารถแยกสาเหตุของการเกิดปัญหาได้ดังนี้

ร้อยละ 52 เกิดจากการระบายอากาศในอาคารที่ไม่เพียงพอ เช่น การออกแบบที่ไม่ถูกต้อง การกระจายอากาศในอาคารไม่ดีพอ อุณหภูมิและความชื้นไม่เหมาะสม มีแหล่งมลพิษภายในระบบระบายอากาศ
ร้อยละ 16 เกิดจากการมีสารปนเปื้อนอยู่ในอาคาร เช่น ไอระเหยของน้ำยาทำความสะอาด จำพวกสารตัวทำละลาย หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เชื้อรา
ร้อยละ 10 เกิดจากมลพิษภายนอกอาคาร เช่น มลพิษการจราจร ควัน ฝุ่น ละอองเกสร
ร้อยละ 5 เกิดจากการปนเปื้อนด้านชีวภาพ
ร้อยละ 4 เกิดจากการปนเปื้อนของวัสดุตกแต่งอาคาร
ร้อยละ 13 ไม่ทราบสาเหตุ

นอกจากนี้ องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ EPA และหน่วยงานอื่นๆ ได้ดำเนินการสำรวจ และพบว่า สิ่งแวดล้อมภายในอาคารมีมลพิษ มากกว่าภายนอกอาคารสูงเป็นอัตรา 2-10 เท่า และได้มีการจัดอันดับปัญหามลพิษในอาคาร เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบ ต่อสุขภาพ


ปัจจัยเหตุของกลุ่มอาการที่เกิดจากการทำงาน ในอาคารปิด

โดยทั่วไป เราสามารถจำแนกปัจจัยเหตุของกลุ่มอาการ ที่เกิดจากการทำงานในอาคารปิดออกได้ เป็นกลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้

การระบายอากาศที่ไม่เพียงพอ ด้วยเหตุผลของการประหยัดพลังงาน ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ส่งผลให้มีการนำอากาศบริสุทธิ์ จากภายนอกเข้าสู่อาคารไม่เพียงพอ ทำให้เกิดการสะสมของกลิ่น เชื้อโรค และสารระคายเคืองต่างๆ ในอากาศที่หมุนเวียนภายในอาคาร ส่วนมากมักพบในอาคารที่ก่อสร้าง ในทศวรรษที่ 70 ซึ่งมักมีช่องอากาศบริสุทธิ์ค่อนข้างเล็ก และตัวอาคารค่อนข้างแน่นหนา บางครั้งอาจเกิดจากความจงใจ ของผู้ดูแลอาคารที่ต้องการลดค่าใช้จ่าย ด้านพลังงานของระบบปรับอากาศ จึงปิดช่องทางเข้าของอากาศบริสุทธิ์

สิ่งปนเปื้อนด้านเคมี จากแหล่งกำเนินในอาคาร แหล่งมลพิษด้านเคมีที่เกิดจากกิจกรรมภายในอาคาร ได้แก่ การสูบบุหรี่ การใช้สารกำจัดแมลง และปลวก การใช้แก๊สหุงต้ม มลพิษที่ปล่อยออกจากผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ในอาคาร เช่น อุปกรณ์สำนักงาน ผงหมึกจากเครื่องพิมพ์ หรือเครื่องถ่ายเอกสาร อุปกรณ์เครื่องจักรต่างๆ ที่กำลังทำงาน ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด นอกจากนี้วัสดุภายในอาคารที่มักปล่อยสารระเหย ของสารเคมีออกมา ได้แก่ สีกาวที่ยึดเศษไม้ของแผ่นไม้อัด เฟอร์นิเจอร์ พรมปูพื้น แผ่นไวนิลปิดผนัง วัสดุบุผนัง และพื้น ซึ่งอาจปล่อย Volatile organic compounds (VOCs) เช่น formaldehyde ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ ทั้งนี้สาร formaldehyde เป็นสารเคมีที่มีกลิ่นฉุน มักพบในสารที่ใช้ทำกาว
สิ่งปนเปื้อนด้านเคมี จากแหล่งกำเนิดภายในอาคาร มลพิษที่ปนเปื้อนในอากาศภายนอกอาคาร เมื่อเข้าสู่อาคารได้ ก็เป็นปัญหาคุณภาพอากาศภายในอาคารเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น

ไอเสียจากรถยนต์ เกิดจากเผาไหม้ของเชื้อเพลิงที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดก๊าซ และอนุภาคในขนาดที่เข้าสู่ทางเดินหายใจได้ (ต่ำกว่า 10 ไมครอน) ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) เมื่อเข้าสู่ร่างกาย จะส่งผลให้เม็ดเลือดแดง ไม่สามารถรับออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ ทำให้เกิดอาการวิงเวียน ปวดศีรษะ อาเจียน อ่อนเพลีย หมดแรง ความรู้สึกสับสน ถ้าได้รับในปริมาณมาก อาจทำให้หมดสติ หรือเสียชีวิตได้ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง เยื่อบุนัยน์ตา จมูก และคอ เกิดอาการเจ็บหน้าอก ไอ หายใจขัด ภูมิต้านทานโรคทางเดินหายใจลดลง และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ทำให้เกิดความระคายเคืองต่อทางเดินหายใจ

ก๊าซเรดอน (Radon) เข้าสู่อาคารผ่านทางพื้นชั้นล่าง หรือฐานราก เกิดจากการสลายตัวของธาตุกัมมันตภาพรังสี ที่มีอยู่ในดิน เช่น Uranium และ Thorium มีลักษณะเป็นก๊าซเฉื่อย ไม่ทำปฏิกิริยากับวัตถุอื่น แต่จะลอย หรือปนกับน้ำที่ซึมเข้าสู่ตัวอาคาร แล้วฟุ้งกระจายไปในอากาศ ในระดับต่ำไม่เกิน 2 ชั้น จากฐานรากของตัวอาคาร การสลายตัวของเรดอน จะเกิดสารตัวใหม่ ซึ่งสามารถรวมตัวกับฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศได้ เมื่อหายใจเอาอนุภาคเหล่านี้เข้าไป ก็จะตกค้างอยู่ที่ปอด ทำให้เกิดมะเร็งปอดได้

สิ่งปนเปื้อนด้านชีวภาพ จุลินทรีย์ที่อาจพบได้ในอาคาร คือ แบคทีเรีย โดยเฉพาะตัวที่ทำให้เกิดปัญหารุนแรง คือ เชื้อลีจิโอเนลล่า นิวโมฟีล่า ซึ่งพบได้ในหอผึ่งน้ำ (Cooling Tower) ของระบบปรับอากาศรวม และสามารถถูกแพร่กระจายตามท่อ ส่งอากาศ ไปตามส่วนต่างๆ ของอาคารได้ นอกจากนี้ยังอาจพบไวรัส เชื้อรา ไรฝุ่น ละอองเกสรดอกไม้ ฯลฯ จุลินทรีย์ส่วนใหญ่เจริญเติบโตได้ดี ในบริเวณที่ชื้นแฉะ และสกปรกในระบบปรับอากาศ เช่น ที่แผงกรองอากาศ (Air Filter) คอยด์ทำความเย็น ท่อส่งลมเย็น สาเหตุมาจากการบำรุงรักษา / การทำความสะอาดที่ไม่ดีพอ การมีน้ำรั่วอยู่ตลอดเวลา การควบคุมความชื้นที่ไม่เพียงพอ การควบแน่น หรือการกระทำของผู้อาศัย การไม่มีที่กรองอากาศ การสัมผัสสิ่งปนเปื้อนด้านชีวภาพ ในอาคาร เป็นสาเหตุให้เกิดอาการไอ แน่นหน้าอก เป็นไข้ หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้อ และมีอาการภูมิแพ้ เช่น ระคายเคืองเยื่อบุผนังทางเดินหายใจส่วนต้นตีบตัน อาการภูมิแพ้เฉพาะบุคคลนั้น มีส่วนสำคัญในการเกิดโรคหอบหืด และเกิดโรคแทรกซ้อนในบางราย ที่มีสภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง

ผลกระทบต่อสุขภาพดังที่ได้กล่าวมานี้ ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยของบุคคลด้วย กล่าวคือ การตอบสนองของแต่ละบุคคล จะมีความแตกต่างกันไป แม้ว่าจะสัมผัสมลพิษชนิดเดียวกัน ที่ความเข้มข้นใกล้เคียงกันก็ตาม เช่น ในคนที่เป็นโรคหอบหืด หรือมีปัญหาระบบทางเดินหายใจ เมื่อสัมผัสกับสารระคายเคือง เช่น ควันบุหรี่ แก๊ส หรืออนุภาคที่มาจากแหล่งกำเนิด ภายในอาคาร ก็อาจแสดงอาการที่รุนแรงกว่าคนอื่นๆ ในที่เดียวกันได้ ปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อความสบาย และประสิทธิภาพของผู้ที่ทำงาน อยู่ในอาคารปิด ได้แก่ กลิ่น อุณหภูมิที่ร้อน หรือหนาวเกินไป ความเร็วลม การหมุนเวียนอากาศที่ไม่ดี ความร้อน หรือแสงจ้าจากดวงอาทิตย์ / หลอดไฟ โดยเฉพาะ จากจอคอมพิวเตอร์ ความแออัดของคน เฟอร์นิเจอร์ ความรู้สึกต่อปัญหาทางกายภาพ เช่น สถานที่ตั้ง สภาพแวดล้อม ความสวยงามในการออกแบบสำนักงาน การจัดสภาพงานให้เหมาะสมกับคนทำงาน ระดับเสียง ความสั่นสะเทือน เป็นต้น

ปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดความรู้สึกสบายในอาคาร

ปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดความรู้สึกสบายของมนุษย์ ในอาคาร เป็นปัจจัยร่วมกันที่กำหนดการแลกเปลี่ยน ความร้อนของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมด้วย มีดังนี้
อุณหภูมิ ควรมีการควบคุมอุณหภูมิของอากาศภายในอาคาร ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม คือ 24 องศาเซลเซียส หรือในช่วง 23-26 องศาเซลเซียส โดยให้เป็นที่ยอมรับของร้อยละ 80 ของผู้ที่อยู่ในอาคารเดียวกัน (สมาคมวิศวกรรมปรับอากาศแห่งประเทศไทย)

ความชื้นสัมพันธ์ ความชื้นสัมพันธ์ที่สูงเกินไป ทำให้เหงื่อระเหยยาก รู้สึกร้อน และอึดอัด ในขณะที่ความชื้นสัมพันธ์ที่น้อยเกินไป ทำให้เกิดความระคายเคืองต่อผิวหนัง จมูก จนบางครั้งอาจทำให้เข้าใจผิดได้ว่า เกิดจากการระคายเคืองของสารเคมีในอาคาร ความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสม จึงควรอยู่ในช่วงร้อยละ 30-70
ความเร็วลม ความเร็วลมที่สูงเกินไป ทำให้รู้สึกหนาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากอุณภูมิต่ำด้วย ในทางตรงกันข้าม หากอากาศร้อน และความเร็วลมต่ำ ลมก็จะพาความร้อนออกจากร่างกายไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้เกิดความรู้สึกร้อน อบอ้าว อึดอัด

การแผ่รังสีความร้อน เกิดจากการที่วัสดุมีอุณหภูมิพื้นผิวสูง หรือต่ำกว่าอุณหภูมิของอากาศภายในห้อง เช่น ฝ้าเพดานที่เย็นจัด เนื่องจากเป็นทางลมกลับของเครื่องปรับอากาศ ร่างกายมนุษย์ก็จะแผ่รังสีความร้อน ไปยังฝ้าเพดานทำให้รู้สึกเย็น ในทางตรงกันข้าม กระจกด้านที่ถูกแสงแดดส่อง ก็จะแผ่รังสีความร้อน มายังผู้อยู่อาศัย จึงทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกร้อนกว่าปกติ แม้ว่าอุณหภูมิในห้องจะอยู่ในเกณฑ์ปกติก็ตาม

กล่าวโดยสรุป กลุ่มอาการจากการทำงานในอาคารปิด มีสาเหตุที่หลากหลาย ทั้งที่มีแหล่งกำเนิดอยู่ในอาคาร และภายนอกอาคาร นอกจากนี้ยังมีสาเหตุร่วม คือ ปัจจัยบุคคล และปัจจัยทางกายภาพอื่นๆ ภายในอาคาร หากไม่มีการจัดการสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และแก้ไขสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ดังจะเห็นได้ว่า ในบ้านเรือนและอาคารต่างๆ ที่มีการติดตั้งระบบปรับอากาศ บางครั้งระบบปรับอากาศเองก็เป็นตัวทำให้เกิดปัญหามลพิษได้ หากทำการบำรุงรักษา หรือทำความสะอาดอย่างไม่เหมาะสม แทนที่จะดำเนินการกำจัดแหล่งมลพิษให้หมดไป กลับพยายามมองหาระบบอื่นๆ เช่น เครื่องกรองโอโซนมาติดตั้งเพิ่มเติม โดยเชื่อว่า จะทำให้อากาศมีความบริสุทธิ์มากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ปัญหากลุ่มอาการจากการทำงานในอาคารปิด จึงไม่สามารถแก้ไขไปได้อย่างเหมาะสม

แหล่งที่มา

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment