คาถาบูชาพระลักษมี


โอม พระลักษมี อิตถีเทวะ เมตตัญจะ มะหาลาโภ

ทุติยัมปิ พระลักษมี อิตถีเทวะ เมตตัญจะ มะหาลาโภ

ตะติยัมปิ พระลักษมี อิตถีเทวะ เมตตัญจะ มะหาลาโภ



จากสาครผุดขึ้น ที่เจ็ด
คือดอกกมลบาน แจ่มจ้า
มีเทวีเสด็จ กลางดอก
งามประเสริฐเลิศหล้า แหล่งสาม
มีนามปรากฏต้อง พระศรี
ศุภลักษณ์ใดปาน เปรียบได้
งามยิ่งสุรนารี มวลหมด
จินตกวีไร้ พจน์ชม

จากลิลิตนารายณ์สิบปาง พระราชนิพนธ์ ในล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖


ขอเล่าเรื่องเทวนารี อีกพระองค์ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของความมีศิริมงคล หรือโชคดี โดยจะเรียกท่านว่า "พระศรี" หรือ "ศรี" เเปลว่า ศิริ นั่นเอง เทวนารี พระองค์นี้ถือว่าเป็นเทวนารีที่ทรงพระศิริโฉม มากที่สุดในกระบวนเทวนารีด้วยกัน ของเทพปกรณัมอินเดียเลยทีเดียวประวัติของเทพนารีพระองค์นี้ ดูจะแปลกสักหน่อย ที่เกิดจากการทำพิธีหรือกิจกรรมร่วมกันระหว่างเทวดากับอสูร ก็ไม่ใช่เรื่องอะไรหรอก คือตอนที่เทวดารบกับอสูรเป็นศึกใหญ่ยืดเยื้อ ล้มตายไปข้างละมากต่อมาก ก็เลยไม่อยากตายต่างฝ่าย มีผลประโยชน์ร่วมกัน ก็ทำสนธิสัญญาประกาศปฏิญญาร่วมกัน ทำพิธีกวนน้ำอมฤต ซึ่งเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ กินแล้วไม่ตาย เป็นอมตะชั่วกัปชั่วกัลป์ ระหว่างการทำพิธีนี่เองที่เกิดเทวนารีพระองค์นี้ ซึ่งมีชื่อว่า "พระลักษมี" และต่อมาก็เรียก พระศรีตามที่ว่าข้างต้นนี่ละ ประวัตินั้น ในหนังสือประวัติเทพเจ้าที่ประพันธ์โดยท่านพระยาสัจจาภิรมย์ ได้แสดงเรื่องราวของพระลักษมี ว่า "พระลักษมี" ในไตต์ติรียสันหิตาว่าเป็นมเหสีพระนารายณ์ นามของพระลักษมีเรียกกันหลายชื่อ ซึ่งบางคนอาจเข้าใจว่าพระนารายณ์มีเมียหลายคนก็ได้ แต่ที่แท้ก็คือเป็นนามของพระลักษมีองค์เดียวเช่น เรียกว่าพระศรี, ภควดี, ปัทมา, ชลธิชา, โลกมาตา เป็นต้น

พระลักษมีมีกำเนิดจากฟองน้ำ ในคราวเทวดาและอสูรกวนเกษียรสมุทรทำน้ำอมฤต จึงได้นามว่า ชลธิชา(เกิดแต่น้ำ)หรือกษีราพธิตนยา(ลูกสาวแห่งทะเลน้ำนม) ในขณะที่ผุดขึ้นมานั้นนั่งมาในดอกบัวและมือถือดอกบัวด้วย จึงมีอีกนามหนึ่งว่าปัทมาหรือกมลา แต่ในอภิธานฮินดู (Hindu Classical Dictionary) ว่าในคัมภีร์วิษณุปุราณะกลับว่า พระลักษมีเป็นธิดาของพระฤาษีภฤคุกับนางขยาติและยังกล่าวต่อไปอีกว่าพระลักษมีเป็นมารดาพระกามเทพด้วย
พระลักษมี มีคุณสมบัติเป็นอย่างเอกและถือกันว่าเป็นเทพนารีผู้อำนวยโชค มีน้ำพระทัยเมตตาปราณีอยู่เป็นนิจ ทั้งว่าเป็นตัวอย่างแห่งนางที่งามตลอดถึงรูปและกิริยามารยาท มีวาจาอันยวนเสน่ห์และไพเราะ ทั้งถือกันว่าเป็นผู้นำมาซึ่งความเจริญทุกประการจึงเรียกว่า พระภควดี นับกันว่าเป็นผู้อุปถัมภ์บรรดาสตรีทุกชั้น ส่วนรูปมักเขียนเป็นสตรีที่งามยิ่งมี ๒ กรอย่างธรรมดา (บางแห่งก็ว่ามี ๔ กร) สีกายเป็นสีทองเสื้อทรงสีเหลือง นั่งหรือยืนบนดอกบัวและมือถือดอกบัว

อนึ่งพระลักษมีมักจะเป็นคู่สังวาสกับพระนารายณ์เสมอๆ เช่น พระนารายณ์อวตารเป็นพระราม พระลักษมีก็ตามไปเกิดเป็นสีดา ในปางกฤษณา วตารก็ไปเป็นนางรุกมิณี, ปางปรศุรามาวตารเป็นนางธรณี,ปางวามนาวตารเป็นนางกมลา เป็นต้น

คติความเชื่อถือเกี่ยวกับพระลักษมีในเมืองไทยอาจเห็นว่า ไม่พบมากนักนอกจากปรากฏในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ ที่เสด็จอวตารลงมาเป็นนางสีดาในรามาวตาร ซึ่งเป็นชนวนเหตุของการรบ ระหว่างทศกัณฐ์ กับพระราม นอกจากนั้นก็ไม่พบได้เด่นชัดนัก แต่ก็จะอนุมานอยู่เรื่องหนึ่งที่น่ามีเค้ามาจากพระลักษมี ตามคติอินเดียก็คือ "แม่โพสพ" เทวีแห่งพืชพันธุ์ ธัญญาหาร ซึ่งคติอินเดีย นั้นเป็นอวตารของพระลักษมี ในคติลักษมีแปดปางที่ชื่อ "ปางธัญญลักษมี" มีเทวลักษณะ ๔-๖ พระกรขึ้นกับจิตกรจะวาดออกมาโดยพระหัตถ์ทั้งสองด้านจะทรงรวงข้าวและธัญญพืช ส่วนแม่โพสพไทยเรานั้นสันนิษฐานมาจากสองคติคือทางหนึ่งมาจากธัญญลักษมี ที่กล่าวมา อีกทางหนึ่งว่า เป็นการแบ่งภาคจากพระพรหมมาเป็นเทพเจ้าแห่งพืชพันธุ์ธัญญาหารโดยการแบ่งภาคนี้หากเป็นเทพบุรุษ ก็เรียกว่า พระไพรศรพณ์ เป็นเทพบุตรรูปงามถือพระขรรค์ ทรงหงส์เป็นสัตว์เทพพาหนะ ส่วนภาคเทวนารี เป็นพระโพสพ ซึ่งจะเป็นรูปนางงามถือรวงข้าวซึ่งคติอย่างหลังก็น่า จะมาจาก "ธัญญลักษมี" ของอินเดียเหมือนกัน เพราะตอนที่ พระลักษมี ผุดขึ้นตอนกวนเกษียรสมุทรมีพระพรหมเสด็จมารับเป็นเทพผู้ใหญ่ของพระลักษมีเพื่อเลือกคู่ซึ่งก็มีการนำเอาพระพรหมมาเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้การกำเนิดพระลักษมีนั้นก็เป็นเรื่องราวที่เกิดจารีตประเพณีแต่งงานแบบหนึ่งด้วยกล่าวคือความงามที่เลิศกว่าเทวนารีใดก็มีเทพเจ้าและอสูรมากมายที่หมายปอง จนองค์พระพรหมต้องเสด็จมารับและให้นางเลือกคู่ ครองเองจนพระนางเลือกพระนารายณ์เป็นเทพสวามี ซึ่งตรงนี้เองเป็นที่มาของพิธีวิวาห์ แบบหนึ่งที่หญิงต้องไปสู่ขอผู้ชายจากผู้ใหญ่ฝ่ายชายหรือเป็นผู้เลือกฝ่ายชายเป็นสามีเองที่เรียกกันว่า "สยุมพร" นั่นเอง ประเพณีนี้ยังคงพบในบางจังหวัดของประเทศไทย อย่างจังหวัดแพร่แถบอำเภอสองก็ยังมีประเพณีทำนองนี้ให้พบเห็นอยู่ส่วนจะมาจากคติอินเดียแบบสยุมพรนี้หรือบังเอิญเป็น "ประเพณีพ้อง" ก็คงไม่ชี้ชัดไปจะขอเล่าเอาไว้เป็นเนื้อความประกอบเรื่องนี้เท่านั้น

พระลักษมีเทวีทรงเป็นเทวีแห่งโชค ที่กล่าวกันว่าทรงอำนาจค้ำคูนอย่างวิเศษ มีบันทึกอย่างจารึก Junagdh Inscription ของ Skandagupta กษัตริย์รุ่นปลายของราชวงศ์คุปตะได้กล่าวว่าด้วยอำนาจแห่งเทวีลักษมีนี่เองที่ทรงส่งเสริมอำนาจเทพสวามีคือพระนารายณ์จนได้ชื่อว่า เทพเจ้าผู้บริหารโลก การบูชาพระลักษมี จึงมีแพร่หลายทั่วไปในอินเดีย เพราะเชื่อว่าผู้ที่สามารถบูชาจนเป็นที่พอพระทัย เทวีลักษมีจะทรงประทานศิริและความมั่งคั่งให้อย่างน่าอัศจรรย์ใจทีเดียว ส่วนในประเทศไทยนอกจากคติการบูชาเจ้าแม่โพสพ แล้วก็มีการบูชาพระลักษมีอยู่บ้างสำหรับผู้ที่เคารพบูชาตามจารีตฮินดูสำหรับวันสำคัญก็มีหลายวันที่บูชาพระลักษมีในโอกาสต่างๆกันอย่างวัน ขึ้น ๙ ค่ำ เดือนอัษฐะ (มิถุนายน-กรกฏาคม) เป็นการบูชานางสีดา(ลักษมีอวตาร) ร่วมกับพระรามและหนุมาน เรียกว่าวันสีดา นวะมี หรืออย่างวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือนการติก(ตุลาคม-พฤศจิกายน) เป็นวันพิธีแห่งแสงสว่างเรียกว่า วันดีปาวลี เชื่อว่าพระลักษมีเทวีจะโปรดประทานความร่ำรวยแก่ผู้บูชาพระนางและยังมีวันอื่นๆอีกที่กำหนดให้บูชาพระลักษมีเทวีในโอกาสที่แตกต่างกันออก ไป แต่จุดมุ่งหมายเดียวกันคือการขอรับพรอันศักดิ์สิทธิ์จากพระนางในคุณสมบัติที่พระนางมีอย่างเปี่ยมล้น คือ ศิริ-ความดีงามและความมั่งคั่งร่ำรวยนั่นเอง..

วันสำคัญอันดับ ๒๒ เรียกว่า อันเตรส แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๑ มีการทำพิธีบูชาพระลักษมี พระคเณศ และพระกุเวร พระแม่สุรัสวดี และพระอินทร

วันสำคัญอันดับ ๒๔ เรียกว่า ทับมาสิกา แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ทำการบูชาเทพเจ้าทั้งห้า และถือว่าเป็นวันสำคัญของพระแม่ลักษมี การบูชาทำในตอนเย็น มีการจุดประทีปโคมไฟไว้ในบ้านตลอดคืน เพื่อต้อนรับพระแม่ลักษมี เป็นวันสำคัญของวรรณะแพทศย์

วันสำคัญทางศาสนาฮินดู

ลักษมีโยค Lakshmi

สัมพันธภาพ- ตนุลัคน์ มีกำลังดี เจ้าเรือนที่ 9 เป็นเกษตร หรืออุจจ์ ในเรือนจตุเกณฑ์ หรือในเรือนตรีโกณฑ์ (ลักษมี-เทพีแห่งทรัพย์สิน)

ผล- เจ้าชะตามีทรัพย์สินมาก สุภาพ มีความรู้ เป็นคนซื่อตรงมาก มีชื่อเสียง ลักษณะสวยงาม เป็นผู้ปกครองที่ดี ได้ความพอใจ และความสะดวกสบายในชีวิต

ข้อสังเกต- นอกจากสัมพันธภาพที่ให้ไว้นี้ ยังมีสัมพันธภาพที่เป็นลักษมีโชคได้อีกคือ

  • ก. ตนุลัคน์กับเจ้าเรือนที่ 9 ร่วมกัน
  • ข. เจ้าเรือนที่ 9 อยู่ในเรือนจตุเกณฑ์ เรือนตรีโกณ หรือเป็นอุจจ์ และตนุลัคน์มีกำลังดี
  • ค. เจ้าเรือนที่ 9 และศุกร์ เป็นเกษตร หรือเป็นอุจจ์ ในเรือนจตุเกณฑ์ หรือเรือนตรีโกณ

เห็นได้ชัดว่า ลักษมีโชค ถือเอาที่การมีกำลังของตนุลัคน์ ศุกร์ และเจ้าเรือนที่ 9 โชคนี้ให้ผลเด่นเรื่องทรัพย์สิน และผู้ที่ได้โยคนี้จะเป็นคนมีทรัพย์สินมาก ฐานะของทรัพย์สินแตกต่างกัน ตามฐานะของการมีกำลัง หรือไม่มีกำลังของดาวโยคการก สัมพันธภาพในข้อ ค เป็นลักษมีโชคที่มีกำลังมากแบบหนึ่ง ซึ่งหมายถึงทรัพย์สินเหลือหลาย ส่วนสัมพันธภาพที่เกิดจากการร่วมกัน หรือเป็นโยคแก่กันระหว่างตนุลัคน์ กับเจ้าเรือนที่ 9 ในเรือนที่ไม่ใช่เป็นเรือนที่ 3 ที่ 6 และเรือนที่ 8 เป็นเพียงลักษมีโยคสามัญ ซึ่งจะมีกำลังแรงได้ ต้องมีธนโชคอย่างอื่นร่วมด้วย

อ่านเรื่องของพระแม่ลักษมีเพิ่มเติม

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment