ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระธรรมคำสั่งสอน พระสงฆ์สุปฏิปันโน พระอริยบุคคลทั้งหลายทั้งสิ้นคุณคุณแม่คุณพ่อ คุณครูบาอาจารย์ ท่านผู้มีพระคุณ ท่านที่มีบุญคุณทุกๆ ท่าน
…..
วันก่อนนำเรื่อง "ทานกุศล" มาฝาก หลายวันมาแล้ว แกะเทปเรื่อง "ศีลกุศล" บรรยายโดยครูบาอาจารย์ของดิฉัน คือ อาจารย์เรณู ทัศณรงค์เห็นว่ามีประโยชน์มาก โดยเฉพาะกับผู้ปฏิบัติธรรมและผู้ที่สนใจธรรมะเพื่อการนำมาใช้ในชีวิตจึงเอามาฝากกันอีกครั้ง โดยแบ่งเป็นตอนๆ รวม ๑๐ ตอนค่ะ
กุศลใดอันเกิดจากธรรมะจากกระทู้นี้ ขอน้อมส่งให้กับครูบาอาจารย์ดิฉันคืออาจารย์เรณู ทัศณรงค์ ทั้งหมดแต่หากมีข้อผิดพลาดประการใดจากการนำมาถ่ายทอดดิฉันขอน้อมรับไว้เพียงผู้เดียวค่ะ
(คำว่า "โยคี" ในที่นี้ หมายถึง ผู้ปฏิบัติธรรม ผู้เพียรเพ่งเผากิเลส ค่ะ)
.....
ฝากข่าวถึงคุณทองคำขาวนิดค่ะ ได้พระสูตร มหาสติปัฏฐานสูตร ฉบับภาษาบาลีมาหลายวันแล้วค่ะ คิดว่าอาจจะใช่อันที่คุณทองคำขาวอยากได้(ไปซีร็อกซ์มาจากพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลี)แต่ว่าพิมพ์ไม่ไหว เพราะเป็นบาลีด้วยและยาวพอสมควรค่ะ แล้วจะทำสำเนาไปให้ที่ศาลาลุงชินนะคะ หรือถ้าหากจะให้เมล์ส่งให้ที่ไหนก็แจ้งมาได้นะคะ ในกระทู้นี้หรือว่าจะเมล์มาที่ deedi_deedi@email.com ก็ได้ค่ะ เพื่อนๆ คนอื่นๆ ใครอยากได้ก็บอกมาได้เช่นกันนะคะ ถ้าอยากได้แบบเป็นสำเนาก็แจ้งๆไว้ก็ได้ แล้วจะทำสำเนาให้ค่ะ
.....
เจริญในธรรม
:> จากคุณ : deedi [ 2 พ.ค. 2543 / 21:57:25 น. ] [ IP Address : 203.146.128.49 ]
ความคิดเห็นที่ 1 : (deedi)
ศีลกุศลอาจารย์เรณู ทัศณรงค์…..
(๑)
ท่านกล่าวว่า เจตนา หัง ภิกขเว สีลัง วทามิ- เรากล่าวว่า “เจตนางดเว้น คือ ตัวศีล”
ศีล มี ๒ ระดับ คือ โลกียศีล และ โลกุตตรศีล
โลกียศีล คือ ศีลที่รักษาแล้วก็จะได้ไปสู่สุคติ คือ ไปเป็นเทวดา พรหม แต่ก็ยังเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏ
โลกุตตรศีลคือ ศีลของผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ได้แก่ อินทรีย์สังวรศีลหรือ ศีลในองค์มรรค
…..(๒)
ศีล ถ้าว่าโดยประเภท มี ๔ ประเภท
๑. ปาติโมกข์สังวรศีลคือ ศีลที่มีบัญญัติไว้ในพระไตรปิฎก ได้แก่ ศีลห้าของฆราวาส ศีลแปดเป็นศีลอุโบสถ ศีลสิบเป็นศีลของสามเณร ศีล ๒๒๗ เป็นศีลของพระภิกษุ ศีล ๓๑๑ ข้อของพระภิกษุณี
๒. ปัจจยวิสุตตศีลคือ ศีลที่พิจารณาในปัจจัยสี่ ส่วนมากพระสงฆ์เวลาจะรับปัจจัยสี่ (อาหารบิณฑบาต จีวร ยาแก้ไข้) ก็จะต้องมีการพิจารณา
๓. อินทรีย์สังวรศีลคือ ศีลของผู้ปฏิบัติธรรม มีการกำหนด – เห็นหนอ ยินหนอ กลิ่นหนอรสหนอ เย็นหนอ ร้อนหนอ คิดหนอ คือ การกำหนดในทวารทั้ง ๖ (ตาหู จมูก ลิ้น กาย ใจ – deedi) อันนี้เรียกว่า อินทรีย์สังวรศีล เป็นศีลของผู้ปฏิบัติธรรม
๔. อาชีวปาริสุทธิศีลหมายถึง ความบริสุทธิ์ในเรื่องของอาชีพ ถ้าโดยทั่วไปแล้ว ก็หมายถึงอาชีพที่บริสุทธิ์ หรือ อาชีพที่พระพุทธเจ้าห้าม เช่น ไม่ขายสัตว์ให้เขาเอาไปฆ่า ไม่ขายมนุษย์ ไม่ขายอาวุธ ไม่ขายยาพิษ ไม่ขายสุราสิ่งเสพย์ติด(นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ก็เป็นอาชีพที่บริสุทธิ์) ชาวพุทธจะต้องเว้นจากอาชีพทั้ง ๕ อย่างนี้
แต่โยคีกำลังปฏิบัติธรรมนั้น เราจะให้พิจารณาเรื่องอาหาร เช่น เห็นหนอ อยากรับประทานหนอ ยกหนอ ไปหนอ จับหนอ ยกหนอ ไปหนอ ตักหนอยกหนอ มาหนอ อ้าหนอ ใส่หนอ รสหนอ ลงหนอ วางหนอ เคี้ยวหนอๆๆๆน้ำลายออก รู้สึกหนอ กลืนหนอ อันนี้ เรียกว่า เป็นอาชีพ เรียกว่าเลี้ยงชีพอย่างบริสุทธิ์ แล้วก็เป็น อาชีวปาริสุทธิศีลของผู้ปฏิบัติ – ขอให้แยกอย่างนี้ด้วย
…..(๓)
การรักษาศีลนั้น ถ้าว่าแล้ว คำว่า “ศีล” แปลว่า ปกติ (มีคำแปลมากมายแต่เอาเฉพาะที่จำเป็น) คนที่มีปกติก็คือจะ
๑. ไม่ฆ่าสัตว์
๒. ไม่ลักทรัพย์
๓. ไม่ประพฤติผิดในกาม
๔. ไม่พูดเท็จ
๕. ไม่ดื่มสุรา
ศีลข้อหนึ่งคนที่มีปกติไม่ทำห้าอย่างนี้ ก็คือคนไม่ผิดศีลห้า คนๆ นั้นก็จะมีความเป็นอยู่อย่างปกติสุข ลองสังเกตว่า จริงมั้ยคนที่ผิดศีลห้าแล้วเดือดร้อน ทุกวันนี้ดูได้ในสังคม คนที่ผิดศีลห้า ก็ต้องถูกเค้าฆ่าตาย หรือไม่ก็ถูกตามล่า ติดตารางก็ไม่เป็นปกติสุข
ศีลข้อสองคนที่ลักขโมยทรัพย์สินของคนอื่น ผิดศีลข้อสอง ก็จะไม่มีความเป็นปกติสุขไปได้ จะต้องหลีกเร้น หลบซ่อน ถูกตามล่า จับกุม เรียกตัวมาดำเนินคดี
ศีลข้อสามข้อสาม – การประพฤติผิดในกาม ข้อนี้จริงๆ แล้วเป็นพื้นฐานของครอบครัวถ้าครอบครัวใดผิดศีลข้อนี้ ก็เป็นอันว่า ครอบครัวนั้นไม่เป็นปกติสุข ครอบครัวแตกแยก พ่อไปทาง แม่ไปทาง ลูกไปทาง นี่คือจุดสำคัญที่จะทำลายความมั่นคงของครอบครัว มีคนกล่าวว่า “สามีขี้เหล้า ขี้ไพ่ ก็ช่างเถอะ ยอมได้แต่ผิดศีลข้อสาม ยอมไม่ได้” ภาษิตไทยบอกว่า “เสียทองเท่าหัว ไม่ยอมเสียผัวให้ใคร” นี่เป็นเรื่องของกิเลส เรื่องของธรรมดา ธรรมชาติ ของใครใครก็รัก ของใครใครก็หวง เพราะฉะนั้น การผิดศีลข้อสาม จึงเป็นเหตุให้เกิดความร้าวรานในครอบครัวและเป็นการทำลายสังคมที่เห็นได้ชัด เพราะกระทบกระเทือนไปถึงเยาวชนด้วย
ศีลข้อสี่ศีลข้อสี่ – มุสา – การพูดมุสา ทำง่ายที่สุด เพราะว่าการพูดเท็จ บางครั้งไม่ตั้งใจ บางครั้งมีความตั้งใจ เพราะฉะนั้น ศีลทุกข้อจะมีองค์ประกอบว่าจะศีลขาดขนาดไหน ถ้าเบาหน่อยเรียกว่า ศีลด่าง ศีลพร้อย ศีลยังไม่ขาด (ข้อ ๑การฆ่า ต้องครบองค์ห้า คือ สัตว์นั้นมีชีวิต – เราก็รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต – มีจิตคิดจะฆ่า – เพียรพยายามฆ่า - สัตว์นั้นตายลง อันนี้เรียกว่าผิดร้อยเปอร์เซนต์เรียกว่า ศีลขาด แต่ถ้าไม่มีเจตนา ศีลก็เป็นเพียงด่างพร้อย เช่น ไม่รู้ว่ามียุง เอามือลูบไป ยุงตาย ศีลไม่ขาดแต่ว่าด่างพร้อย ไม่สมบูรณ์เพราะฉะนั้น ศีลทุกข้อจะมีองค์ประกอบ)
ศีลข้อห้าข้อห้า – การเสพย์สุรา – ถือว่ามีความสำคัญไม่น้อยกว่าข้ออื่นๆ และในบางแห่งจะอธิบายไว้ว่า ตามปกติเราก็มีสติอ่อนอยู่แล้ว ถ้าพอไปดื่มสุรา(ท่านเรียก “น้ำทำลายสติ”) ถ้าคนเราขาดสติแล้ว ก็ทำได้ทุกอย่าง จึงสังเกตว่า คนจะปล้น จะฆ่า โจร มิจฉาชีพ ลองดูโทรทัศน์ ไม่ว่าเรื่องอะไรตัวผู้ร้ายต้องถือขวดเหล้า ดูออกเลย นี่คือสื่อ จะเห็นว่า เหล้าเป็นตัวย้อมใจให้คนกล้าหาญที่จะทำชั่วมากขึ้น บางคนถ้าไม่ดื่มสุรามีความละอาย ไม่กล้าร้องเพลง ไม่กล้าทำอะไรทั้งสิ้น แต่พอดื่มสุรา มึนๆ เข้าหน่อยตึงๆ เข้าหน่อย ร้องเพลงก็ได้ รำก็ได้ ฆ่าก็ได้ ปล้นก็ได้ เพราะฉะนั้นท่านจึงสังเกตได้ว่า แห่งอบายมุขซึ่งเป็นแหล่งบันเทิงทั้งหลาย จะต้องมีสุรา แล้วก้าวไปหานารี ไปพาชี ไปกีฬาบัตร เหล่านี้โยงกัน หมายความว่า คนที่ดื่มสุราแล้ว ก็จะสามารถประพฤติชั่วได้หมดทุกอย่าง เพราะว่าไม่มี “สติ” จึงเรียกว่า “น้ำทำลายสติ”
เพราะฉะนั้น ศีลที่เรามาปฏิบัติธรรม จึงเรียกว่า ”อินทรีย์สังวรศีล”หรือ ศีลในองค์มรรค คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ(หรืออีกชื่อเรียก วิรตีเจตสิก ๓ = เว้นจากการไม่ทำบาป ๓ คือ กายกรรมบริสุทธิ์ (ไม่ทำบาปทางกาย – สัมมากัมมันตะ) สัมมาวาจา = วาจาบริสุทธิ์ สัมมาอาชีวะ = เลี้ยงชีพบริสุทธิ์ เพราะฉะนั้น โยคีได้ ๓ ตัวนี้เวลามาประพฤติธรรม นี่คือ ศีลในองค์มรรค ศีลอันนี้จึงจะทำให้ละกิเลสได้แล้วตรงนั้น จะทำให้ศีลห้าบริสุทธิ์
…..
(มีต่อค่ะ) จากคุณ : deedi [ 2 พ.ค. 2543 / 21:59:33 น. ] [ IP Address : 203.146.128.49 ]
ความคิดเห็นที่ 2 : (deedi)
(๔)
ศีลจึงมี ๓ ระดับ ๓ ประเภท
๑. สมาทานวิรัติเวลาไปวัด พระจะให้ศีล เวลาเอาของไปถวายวัด พระก็จะบอกว่า “โยม รับศีลนะ” เราก็รับกับพระ (หรือแม้แต่นั่งดูฟังทีวี พระว่าเราก็ว่าด้วย นี่เรียกว่ารับกับพระ) รู้มั่ง ไม่รู้มั่ง ก็ว่าตาม รับเสร็จแล้วท่านก็จะให้ถวายไทยทานต่างๆ แล้วเราก็เลิก ไม่สน อันนี้เรียกว่า รับแล้วก็วาง ไม่ได้ถือ เพราะฉะนั้นคนจึงผิดศีลนอกวัดออกมาปุ๊บก็ผิดศีล ไม่ได้สังวร ไม่ได้ระวัง
๒. สัมปัตตวิรัติระดับนี้ จิตใจสูงขึ้น ด้วยการงดเว้นเอาเอง เหมือนที่สมาทานทุกเช้า ต่อหน้าพระพุทธรูป ถ้าเจตนางดเว้นเอาเองต่อหน้าพระพุทธรูป ถือว่าเป็นผู้มีระดับจิตมีเจตนาที่จะงดเว้นศีลสูงขึ้น ปราณีตขึ้น
๓. สมุทเฉทวิรัติไม่ต้องสมาทาน ศีลก็บริสุทธิ์ หมายถึง บุคคลที่ปฏิบัติธรรมแล้ว ก้าวขึ้นสู่ความเป็นพระอริยบุคคล นับตั้งแต่พระโสดาบันอริยบุคคลเป็นต้นไป ศีลห้าจะมั่นเป็นนิตย์ โดยไม่ต้องสมาทาน
…..(๕)
ศีลนั้น ถ้าจะว่าไปแล้ว ท่านบอกว่าเป็นแม่ของกัลยาณธรรมทุกประการถ้าไม่มีศีลขึ้นต้น กุศลธรรมอย่างอื่นจะไม่เกิดหรือเกิดไม่ได้ ศีลจึงถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่าทาน ถ้าจะว่าแล้ว เพราะเราจะมาเกิดในมนุษย์ ในสุคติภูมิได้ จะต้องอาศัยศีล ถ้าหากว่าไม่มีศีลแล้ว ลำพังแต่ทานอย่างเดียว มาไม่ได้
”สีเลนะ สุคติง ยันติ” ”สีเลนะ โภคะ สัมปทา”
ท่านจึงบอกว่า “ศีลเป็นสะพาน ให้เราเดินไปสู่สุคติ” มีคำกล่าวเวลาพระท่านให้พร ”สีเลนะ สุคติง ยันติ” - ศีลจะพาไปสู่ เป็นสะพานไปสู่สุคติภูมิ คือ มนุษย์ เทวดา ”สีเลนะ โภคะ สัมปทา” - ศีลเป็นเหตุให้เกิดโภคทรัพย์ ผู้มีศีล จะมีโภคทรัพย์
๒ ระดับนี้ ยังอยู่ในโลกียะ เพราะว่าศีลใน ๒ ระดับนี้ เป็นศีลที่สามารถให้เราท่องเที่ยวอยู่ในสุคติภูมิ คือ มนุษย์ ก็เป็นมนุษย์ที่มีความสุข เป็นเทวดาหรือเป็นพรหม
”สีเลนะ นิพพุตติง ยันติ ตัสมา สีลัง วิโสทะเย”
ตอนสุดท้าย ท่านจะกล่าวว่า ”สีเลนะ นิพพุตติง ยันติ ตัสมา สีลังวิโสทะเย” - จะไปสู่มรรค ผล นิพพาน ได้ ก็ต้องอาศัยศีล ศีลตรงนี้หมายถึง อินทรีย์สังวรศีล และ ศีลที่อยู่ในองค์มรรค
ศีล ตรงนี้ จึงต่างกัน “โลกุตตรศีล” = ศีลที่ละกิเลส ศีลของผู้ที่กำลังปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน แต่ศีลที่รักษาทั่วไปเป็นโลกียศีล เพราะว่าสามารถส่งผลให้เราไปสู่มนุษย์ที่ดี ร่ำรวย อายุยืน สวยงาม แต่ว่าก็ยังเวียนว่ายอยู่ เพราะว่าไม่ถึงกับทำลายกิเลส ถ้าเป็นศีลของผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ตรงนั้นจึงจะเป็นศีลที่ทำลายกิเลส หรือไปถึงพระนิพพาน ซึ่งอยู่ในวรรคหลัง “สีเลนะ นิพพุตติง ยันติ ตัสมา สีลังวิโสทะเย” หมายถึง ศีลของผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
”สุขัง ยาวะชลา สีลัง”
ท่านกล่าวว่า “สุขัง ยาวะชลา สีลัง” – ศีลจะทำให้เกิดสุขตราบเท่าชราท่านว่า อยู่กับศีลกับธรรม ดีกว่าอยู่กับทรัพย์สมบัติ อย่าติดลูกติดหลานติดทรัพย์สมบัติ มันไม่เที่ยงแท้แน่นอน แต่ถ้าท่านอยู่กับศีลแล้ว ศีลจะคุ้มครองให้ท่านมีความสุข ตราบเท่าชรา
”สีลัง โลเก อะนุตตะรัง”
หรืออีกอย่าง ท่านกล่าวว่า “สีลัง โลเก อะนุตตะรัง” – ศีล ยอดเยี่ยมในโลกถือศีลไว้ รักษาศีลไว้อย่างเดียว ก็สามารถที่จะมีความสงบสุขได้
ศีล จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนปฏิบัติธรรมแล้ว พึงตระหนัก สำรวจ สังวร ตัวเองให้มาก และตรงนี้ โยคีควรศึกษาเรื่องศีลห้าให้มาก เพราะเราจะต้องอยู่กับศีลห้า เพราะว่าเป็นผู้ครองเรือน
…
การมาปฏิบัติธรรม พอปฏิบัติแล้ว ศีลห้าจะดีขึ้น ทุกคนที่เคยปฏิบัติแล้วลองถามตัวเองว่า ศีลห้าดีขึ้นไหม แสดงให้เห็นว่า จะรู้เองว่าปฏิบัติแล้วศีลห้าจะระมัดมั่นขึ้นขนาดไหน อาจมีข้อบกพร่องไปบ้าง แต่เราก็รู้จักสังวรระวัง กำหนดสติอยู่เรื่อยๆ ศีลก็ไม่ค่อยขาด
…
…..(๖)
การผิดศีลมีโทษอย่างไร แล้วรักษา(ศีล)ได้ มีประโยชน์อย่างไร
เรื่องนี้ โยคีจะได้ประโยชน์มากเพราะว่าจะได้ความรู้และเอาไประมัดมั่นสังวร ระวัง และรู้คุณค่าของศีลห้าให้มากขึ้น)
โทษของการผิดศีลโดยทั่วไปการผิดศีล โทษคือ ตกนรก ไปอบาย ไปอบายก็คือมีสิทธิ์ตกนรก เป็นสัตว์นรกเปรต อสุรกาย เดรัจฉาน ได้หมด คำว่าอบาย จะใช้คำว่า ผิดศีล ไม่ว่าข้อไหนก็ไปอบาย คือ ไม่ได้มาสุคติภูมิ จะต้องไปอบาย – สัตว์นรก เปรตอสุรกาย เดรัจฉาน ภพใดภพหนึ่ง
-ศีลข้อหนึ่ง- ปาณาติบาต
-ผิดศีลข้อหนึ่ง-
ไปตกนรกแล้ว สมมุติเศษบาปที่ติดตามมา อย่างเรามา เราก็มีเศษบาปที่ติดตามมา เศษบาป กลับมาเกิดเป็นคน จะเป็นคนพิการ อย่างน้อยที่สุดอายุสั้น พวกที่ตายในอายุ ๓๐ - ๔๐ บางคน ๑๐ ปี พวกนี้เพราะเหตุว่ามีเศษบาป (คือ ผิดศีลข้อที่หนึ่ง) ตามมา แล้วอีกอย่างคือจะถูกจองเวรคนที่ถูกเค้าฆ่า นั่นเพราะเศษบาป คู่เวรคู่กรรมตามมาคิดบัญชี ถ้าคนไม่เคยฆ่าเขาก็ไม่ฆ่ากัน เพราะเขาเคยฆ่ากันเค้าก็ตามกันตามล้างตามผลาญ พูดง่ายๆ
-รักษาศีลข้อหนึ่งไว้ได้ จะมีอานิสงส์อย่างไร-
จะเกิดกี่ภพกี่ชาติก็ตาม จะมีร่างกายสมบูรณ์ มีกำลังมาก ผิวพรรณวรรณะดีเปล่งปลั่ง มีกิริยามารยาทอ่อนโยน มีวาจาไพเราะ ศัตรูทำร้ายไม่ได้ ไม่มีโรคภัยประจำตัว อายุยืน และไม่ตายด้วยอุบัติเหตุ (ที่เรียกว่า “ตายโหง”) คนที่รักษาศีลข้อหนึ่งไว้ได้ดี ไม่มีสิทธิ์ตายโหง ตายก็ตายธรรมดาๆ (ตายโหง คือตายปัจจุบันทันด่วน)
…..
(มีต่อค่ะ) จากคุณ : deedi [ 2 พ.ค. 2543 / 22:00:45 น. ] [ IP Address : 203.146.128.49 ]
ความคิดเห็นที่ 3 : (deedi)
(๗)
-ศีลข้อสอง- อทินนาทาน
-ผิดศีลข้อสอง-
อย่างหนัก ไปอบาย ไปตกนรก ดูเศษบาปได้ เศษบาปที่ตามมาก็จะทำให้ยากจน กลับมาเกิดเศษบาปที่ติดมาในชาตินี้ก็จะทำให้เป็นคนยากจน ฝืดเคือง หาเลี้ยงชีพลำบากมากกว่าจะได้ร้อยได้พัน เรียกว่า หยาดเหงื่อแรงงาน ต้องใช้ไปมากที่สำคัญ ถึงจะไปเกิด หาทรัพย์สมบัติมาได้ ก็ไม่อยู่ จะต้องถูกทำลายไป โจรภัย-ถูกโจร ถูกปล้น อัคคีภัย- ไฟไหม้ วาตภัย- ลมพัด อุทกภัย- น้ำท่วม ทรัพย์สมบัติจะถูกทำลาย ไม่สามารถที่จะครอบครองให้อยู่จนกระทั่งตัวเองมีความสุขตลอดชีวิต นี่เพราะเศษบาปที่ติดตามมา
-ถ้ารักษาศีลข้อสองไว้ได้อย่างสมบูรณ์ จะมีผลคือ-
เป็นคนมีทรัพย์มาก หาทรัพย์ ทำมาหาเลี้ยงชีพคล่อง สมบัติเกิดง่าย รักษาไว้ได้ตลอดชีพ ชั่วชีวิตทรัพย์สมบัติจะไม่ถูกทำลาย ลูกหลานก็ทำลายไม่ได้ แต่ถ้าไปตกถึงลูกถึงหลานทำลาย นั่นเป็นเรื่องของลูกหลาน คนบางคนร่ำรวยมาตลอดพอพ่อสิ้นบุญก็ทั้งไฟไหม้ ทั้งถูกเค้าโกง นี่เพราะตัวคนที่เป็นลูกทุศีลมา แต่คนที่เป็นพ่อรักษาศีลข้อสองมาดี ก็ปกครองทรัพย์สมบัติของเค้าไว้ได้
ที่สำคัญที่สุด คือ จะอยู่ที่ใดเค้าก็เป็นสุข คนไม่ผิดศีลข้อสอง ของไม่หาย คนอื่นของหาย เค้าของไม่หาย อยู่ที่ไหนก็เป็นสุข ไม่เดือดร้อน
…..(๘)
-ศีลข้อสาม- กาเมสุมิจฉาจาร
-ผิดศีลข้อสาม-
อย่างหนัก ตกนรก ไปอบาย ถ้ามีชีวิตอยู่หรือเศษบาปที่ตามมา จะมีศัตรูรอบด้าน
จะถูกคนอื่นดูหมิ่นดูแคลน และเศษบาปที่ตามไปจะทำให้เกิดเป็นกระเทยจะมีปัญหาในเรื่องเพศ ทางเพศ หรือไม่ก็เป็นโสเภณี หรือเบาที่สุด เจ็บช้ำน้ำใจเพราะคู่ครอง มีสามีสามีก็เจ้าชู้ มีภรรยาภรรยาก็นอกใจ มีลูกลูกก็ไม่เอาเรื่อง อยากจะไปกับใครก็ไป ที่เค้าเรียกว่ามีลูกสาวไม่ได้กินขันหมากนี่เพราะตัวเองทำ เศษบาปตามมา
-ถ้ารักษาศีลข้อสามไว้ได้ มีอานิสงส์คือ-
๑. ไม่มีศัตรู เป็นที่รักของทุกคน ที่สำคัญ ถ้าเป็นผู้ชายจะไม่ต้องเกิดเป็นผู้หญิง(ผู้ชายทำผิดก็เกิดมาเป็นผู้หญิงได้ ผู้หญิงทำกุศลมากๆ ก็กลับไปเป็นผู้ชายได้วนเวียน ผู้หญิงที่จะเป็นผู้ชายคือคนต้องตัดสินใจอะไรเด็ดขาด จะทำอะไร(ดี)ทำเลย และผู้หญิงก็มีเหนือกว่าที่ผู้ชายเป็นไม่ได้ คือ ความเป็นแม่ ที่สำคัญพระพุทธองค์ซึ่งมีวิจารณญาณอันละเอียด ทรงเห็นผู้เป็นเพศแม่ จะยกย่องด้านความอ่อนโยน ความเมตตา เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่ให้คุณประโยชน์ โอบอุ้ม เค้าจะยกให้เป็นแม่ แม่พระธรณี แม่พระคงคา แม่ทัพ) – คนที่เป็นโสเภณี หรือ คนที่เจ็บช้ำน้ำใจ เห็นอยู่เยอะ วิเคราะห์ได้ว่า นี่คือ เศษบาปของศีลข้อสาม
๒. เป็นคนมีอำนาจ มีความสุขในครอบครัว เป็นพ่อบ้านที่มีความสุข ปกครองลูกภรรยาอยู่ในอำนาจ (= อยู่ในธรรม) ผู้ชายทุกคน ถ้าไม่เจ้าชู้ก็จะเป็นที่รักของลูกของเมีย จะขี้เกียจยังไงก็ยังพอยกไว้ แต่ถ้าเจ้าชู้เค้าไม่ให้อภัย และถ้าทำผิดศีลข้อสาม จะเสื่อมเสียไปถึงลูกหลาน น่าเกลียดมาก เพราะฉะนั้น คนรักษาศีลข้อสามได้ ครอบครัวจะมีความสุข มั่นคง
๓. ที่สำคัญที่สุด จะไม่มีปัญหาเรื่องเพศ
เพราะฉะนั้น ศีลข้อสามนี้ ขอให้ทุกคนได้ตระหนักและสอนลูกสอนหลานสอนคนที่อยู่ใกล้ชิดเรา เพราะนี่คือปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำลายสถาบันครอบครัว รวยขนาดไหน ถ้าผิดข้อนี้ข้างในก็โพรง พูดกันไม่รู้เรื่อง จนขนาดไหน ถ้าครอบครัวรักษาศีลข้อนี้ไว้ดี รับรองได้บ้านนั้นเป็นวิมาน ขอให้พยายามช่วยกัน การฟังการเข้าใจ เมื่อเราเข้าใจแล้ว สามารถช่วยคนข้างเคียงได้เพื่อนฝูง ญาติ ให้เข้าใจได้ว่าทำผิดขนาดนี้แล้วให้โทษไปไกลมากเลยนี่ขนาดเศษบาปที่ตามมา
มีบางคนบอกว่า ไม่เข้าใจเลย รวยก็รวย สวยก็สวย ความรู้ก็สูง แต่มีแฟนเมื่อไหร่ก็มีคนมาซิวไปทุกที ช้ำใจขนาดหนัก วนเวียนมามีปัญหาอย่างนี้อยู่เรื่อย ขนาดทำกรรมฐานตั้งเท่าไหร่ก็ยังลดตัวนี้ไม่ลง แต่ถ้ายกจิตขึ้นเพราะว่าตัวนี้ถ้าทำได้ต้องยกจิตให้เป็นพระอริยะ (คือ พระโสดาบันขึ้นไป)ก็จะลดลง แต่ถ้ายังไม่ถึง ก็จะเป็นอยู่อย่างนี้ เสียอกเสียใจ ช้ำใจ เรียกว่ายังไม่หมดกรรม วิเคราะห์ว่า คือ เศษบาปข้อ ๓ ตามมาเบียดเบียน
…..(๙)
-ศีลข้อสี่- มุสาวาท
ศีลข้อสี่ ท่านว่าเป็นข้อที่รักษายากที่สุด รวมหมด พูดเท็จ พูดหยาบ ส่อเสียดเพ้อเจ้อ สรุปคือ ผิดศีลทางวาจา
ที่ว่าผิดง่ายก็เพราะไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์ (จะระวังได้ก็ด้วยอาศัยสติช่วย) ผิดศีลข้อหนึ่ง ฆ่าหรือทำลาย ต้องมีอุปกรณ์ มีไม้ มีด ปืน หรืออย่างน้อย ต้องอาศัยความโกรธ กว่าจะลงมือฆ่า ลงมือทำร้าย แต่ว่าปาก ถ้าสติไม่ดีตัวเดียว ก็มีสิทธิ์ดังนั้น โยคีจึงไม่ให้พูด เพราะว่า(การผิดศีลข้อนี้ – deedi) ไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์อะไรเลย ศีลข้อสองจะลักจะขโมยก็ต้องวางแผน ตั้งท่า คิดหาวิธี ผิดศีลข้อสามก็ยิ่งต้องลงทุน กว่าจะไปชอบของใคร จะไปพูดให้เค้าชอบ กว่าจะเชื่อใจ กว่าจะลงเอย หมดไปเยอะกว่าจะสำเร็จ แต่มุสานี้ง่ายมาก ขาดสติเมื่อไหร่ก็ขาดทันทีเลย เพราะอยู่ที่กำลังใจของเราว่าจะระลึกได้เมื่อไหร่
ให้ลองสังเกตตัวของเราเอง ปฏิบัติไปแล้วจะเป็น พอนึก พอเห็นหน้าเพื่อนคนนึงก็นึกอยากพูดบางเรื่อง แล้วจะมีตัวสติขึ้นมาว่า นี่กำลังจะมุสา นี่กำลังจะส่อเสียด นี่กำลังจะเพ้อเจ้อ แล้วเราก็นิ่งไป บางทีจะด่าเขา พอนึกขึ้นมาได้ “โกรธหนอ” ก็หยุดนิ่งไป นี่คือคุณค่าของสติ
จะช่วยปิดปากของเราได้ ถ้าไม่มีสติก็หลุดหมดเลย โดยเฉพาะศีลข้อสี่นี้ พูดเท็จนี่ต้องถือว่าเราทำได้ง่ายและผิดพลาดง่าย โยคีจึงไม่ให้พูดเพราะว่าต้องการให้ศีลบริสุทธิ์ และจะเป็นศีลในสัมมาวาจา ในองค์มรรค เพราะฉะนั้นจะต้องบริสุทธิ์หมด ไม่เท็จ ไม่หยาบ ไม่ส่อเสียด ไม่เพ้อเจ้อ – เห็นหนอจริงๆยินหนอจริงๆ กลิ่นหนอจริงๆ รสหนอจริงๆ เย็นหนอ ร้อนหนอ อุ่นหนออ่อนหนอ แข็งหนอจริงๆ และกำลังเกิดปัจจุบันด้วย อดีตก็ไม่เอา อนาคตก็ไม่เอา เอากำลังปัจจุบันนี่ละ คิดหนอจริงๆ เพราะฉะนั้น โยคีจึงอยู่ในตรงนี้ที่เรียกว่า “อินทรีย์สังวรศีล” จึงสามารถละกิเลสได้
-ผิดศีลข้อสี่-
ไปอบาย เศษบาปที่ติดมา ๑. จะพูดอะไรไม่มีใครเชื่อ เคยเห็นไหมคนพูดอะไรไม่มีคนเชื่อ นั่นเพราะเคยผิดศีลข้อนี้มา ๒. จะถูกใส่ความ ถูกเขาตู่๓. บางคนจะเป็นโรคที่ปาก ปากมีกลิ่น เหม็นออกมาจากข้างใน ไม่ได้เหม็นที่ฟัน เหม็นมาจากในคอ เพราะว่านี่เศษบาป จะทำให้ปากเหม็น หรือบางคนเป็นมะเร็งที่ปาก … เพราะฉะนั้น คนที่ทำบาปในปาก ที่ปาก ก็จะเกิดทุกข์เกิดโทษที่ปาก
-ถ้ารักษาศีลข้อสี่ไว้ได้-
๑. มีฟันเรียบสวยงาม
๒. ปากมีกลิ่นหอม คนชวนคนทำบุญ พูดแต่เรื่องมีศีลธรรม เหมือนสันตติอำมาตย์ วันๆ ไม่ทำอะไร ชวนคนทำบุญทำทาน เดินชวน ขี่ม้าชวน ขี่ช้างชวน ชวนเค้าทำกุศล จนปากมีกลิ่น พูดออกมาเป็นกลิ่นดอกบัว หอม อันนี้เป็นสมัยพุทธกาล ท่านยกตัวอย่างให้ฟัง และแม้ในปัจจุบันคนที่ไม่ได้พูดเท็จ พูดหอมในที่นี้ถึงไม่มีกลิ่นหอมแต่ก็หอมด้วยประโยชน์ที่เค้าเปล่งวาจาออกมา เพราะฉะนั้น คำว่ากลิ่นออกมาจากปากหอม ไม่ได้หมายถึงกลิ่นออกมาเป็นรูปธรรม แต่ในด้านคุณค่า คนที่พูดเท็จพูดแล้วก็เกิดความทุกข์ทั้งตัวเองและคนอื่น คนที่พูดมีประโยชน์คำพูดเป็นความจริงด้วย ถูกเวลาด้วย ก็ถือว่าเป็นวาจาที่มีกลิ่นหอมเพราะว่าเราจะจำได้ คิดขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ระลึกได้ และได้นำไปใช้ผิวพรรณจะผ่องใส มีวาจาไพเราะ ร่างกายสมส่วน ที่สำคัญไม่ติดอ่าง ข้อสำคัญที่สุด จะมีวาจาสิทธิ์ พูดอะไรคำนั้น ไม่กลับกลอกนี่คืออานิสงส์ของการรักษาศีลข้อสี่ได้
…..(๑๐)
-ศีลข้อห้า-
-ผิดศีลข้อห้า-
ผิดศีลจะไปอบาย เกิดในภพชาติใดก็จะเป็นคนปัญญาอ่อน หรือวิกลจริต และคนผิดศีลข้อห้า (โทษของสุรา)ในปัจจุบัน จะเสียทรัพย์ ถูกคนดูหมิ่น ไม่มีคนเชื่อถือ มีโทษหกอย่าง ที่สำคัญที่สุดคือ ตายหลงสติ คนเมาตายแล้วไปอบายทุกคน ถึงยังไม่ตายก็ตายทั้งเป็น ดูได้คนติดสุราหรือดื่มสุราจะทำลายสุขภาพร่างกาย โรคจากการดื่มสุรามีมาก ตับแข็ง มะเร็งที่ลำคอ (เพราะเหล้าผ่านลำคอก็เผามาเรื่อย) ผิดศีลข้อนี้ถือว่าทำลายอนาคตไปไกลมาก เพราะเกิดมาอีกกี่ชาติก็จะเป็นคนพูดอะไรไม่รู้เรื่อง ปัญญาอ่อน ไอคิวต่ำ ที่สำคัญจะทำให้ไม่สามารถทำความดี แม้แต่ในระดับทานหรือศีล ส่วนระดับภาวนาไม่ต้องพูดถึง
-ถ้ารักษาศีลข้อห้าไว้ได้-
จะมีสติปัญญาเฉียบแหลม ไม่วิกลจริต มีวาจาไพเราะ บุคลิกดี
สรุป
คนที่รักษาศีลไว้ได้ทั้งหมด พระพุทธเจ้าจะบอกว่า ผู้รักษาศีลเอาไว้ได้จะ (๑) อนาคตดี (๒) เกิดสมบัติ (๓) ไปสู่นิพพานได้ – เหมือนที่พระให้พร“สีเลนะ สุคติง ยันติ” ผิดศีลเมื่อไหร่ ทุกข์เมื่อนั้น ตกนรกตั้งแต่ยังไม่ต้องตาย ไม่ว่าผิดข้อไหน
เพราะฉะนั้นทุกคนที่มีโอกาสปฏิบัติธรรม อย่างต่ำสุดขอให้ระมัดมั่นศีลห้าไว้ให้มากๆ เพราะการรักษาศีลห้า ก็จะเป็นบันไดให้ได้ก้าวหน้าไปในทางธรรมยิ่งๆ ขึ้น แม้ว่ามีชีวิตอยู่ก็จะประสบความสันติสุขร่มเย็น เจริญรุ่งเรือง ก้าวหน้า
ท่านกล่าวว่า
”จงสืบเท้าก้าวหน้าอย่ายั้งหยุดทำความดีถึงที่สุดทุกวิถีผู้ที่หยุดกระทำซึ่งกรรมดีท่านเมธีกล่าวว่าถอยหลังลงทุกเวลานาทีนั้นมีค่าปฏิบัติศีลห้าให้อาจหาญจะพิเศษวิสุทธิ์หยุดเป็นพาลทุกๆ วันตั้งใจทำแต่กรรมดี”
กรรมดีที่ทำได้ง่ายที่สุด ใกล้ตัวที่สุด ก็คือ ระมัดมั่นในศีลห้าให้มากที่สุด หลังจากที่ปฏิบัติธรรมไปแล้ว
*****************************จบแล้วค่ะ*****************************
เจริญในธรรม
:> จากคุณ : deedi [ 2 พ.ค. 2543 / 22:02:37 น. ] [ IP Address : 203.146.128.49 ]
ป้ายกำกับ: dharma
0 ความคิดเห็น:
Labels
- astrology program (4)
- biodiesel (1)
- comic (1)
- condo plan (39)
- deva (2)
- dharma (4)
- egypt (12)
- english terms (5)
- ergonomic (1)
- feng shui (7)
- FFI (3)
- fuel (1)
- gas (1)
- gasoline (1)
- gemstone (3)
- health (3)
- heroes (5)
- hobby (6)
- jagannatha hora (2)
- knowledge (17)
- make merit (1)
- maps (1)
- mlm (1)
- mpg-cap (1)
- mpg-mega-crumb (1)
- my trip (5)
- my wish list (5)
- numerology (3)
- oil (1)
- rich dad poor dad (1)
- rober kiyosaki (1)
- save (1)
- talismans (4)
- tv show (8)
- vedic astrology (7)
- นามมงคล (2)
- พ่อรวยสอนลูก (1)
- เลขศาสตร์ (3)
- เสริมสิริมงคล (6)