สวัสดีค่ะเพื่อนๆ

วันนี้ เอาเรื่อง "ทานกุศล" มาฝากค่ะมีสองส่วน ส่วนแรก จากหนังสือ "กรรมลิขิต" ส่วนที่สอง (มี ๕ ตอน) เป็นธรรมะจากเทปที่บรรยายโดยครูบาอาจารย์ทางธรรมของดิฉันท่านหนึ่งท่านชื่อ อาจารย์เรณู ทัศณรงค์ ค่ะท่านปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานมาสามสิบกว่าปีแล้วและเคยบวชชี ศึกษาปริยัติอยู่หลายปี

ดิฉันถอดเทปนำมาฝากโดยไม่ได้ตัดเลย(เท่าที่ถอดเทปมาได้) เพราะเห็นว่าท่านบรรยายไว้ชัดเจน ขยายความและยกตัวอย่างให้เยอะและน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ยังครองเรือนที่มีใจใฝ่ในการบุญการกุศลและการปฏิบัติธรรมค่ะ
หากมีศัพท์ธรรมะใดผิดพลาด เพราะเป็นการถอดจากเทป ต้องขออภัยไว้ตรงนี้ด้วย และกรุณาช่วยทักท้วงกันมาด้วยนะคะ จะได้แก้ไขให้ถูกต้องต่อไป

เจริญในธรรม
:> จากคุณ : deedi [ 8 เม.ย. 2543 / 22:59:26 น. ] [ IP Address : 203.146.130.239 ]

ความคิดเห็นที่ 1 : (deedi)
ผลการให้ทาน

ทักขิณาวิภังคสูตร (๑๔/๗๑๑) พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงผลการให้ทาน ว่า

๑. ให้ทานในสัตว์เดรัจฉาน ได้ผลร้อยเท่า
๒. ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล ได้ผลพันเท่า
๓. ให้ทานในปุถุชนผู้มีศีล ได้ผลแสนเท่า
๔. ให้ทานในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม ได้ผลแสนโกฏิเท่า
๕. ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง ได้ผลนับประมาณไม่ได้
๖. ถ้าให้ทานในพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธเจ้า และ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผลยิ่งไม่อาจนับประมาณได้เลย

สัปปุริสทานสูตร (๒๒/๑๔๘) พระผู้มีพระภาค ตรัสถึงทาน ๕ ประการ
๑. ทานที่ให้ด้วยศรัทธา ทำให้ร่ำรวยและมีรูปงาม
๒. ทานที่ให้โดยเคารพ ทำให้ร่ำรวยและมีบุตร ภรรยา บริวารที่เชื่อฟัง
๓. ทานที่ให้โดยกาลอันควร ทำให้ร่ำรวยตั้งแต่ปฐมวัย
๔. ทานที่ให้ด้วยจิตอนุเคราะห์ ทำให้ร่ำรวยและพอใจใช้ของดีๆ
๕. ทานที่ให้โดยไม่กระทบตนและผู้อื่น ทำให้ร่ำรวยและทรัพย์นั้นปลอดภัยจากไฟ น้ำ หรือ การแย่งชิงของผู้อื่น

ทานสูตร (๒๓/๔๙) พระผู้มีพระภาค ตรัสถึงการให้ทาน ๗ อย่าง
๑. การให้ทานด้วยคิดว่า ตายไปจักได้เสวยผลทานนี้เมื่อตายแล้ว ย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา
๒. การให้ทานด้วยคิดว่า ทานเป็นการดี เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
๓. การให้ทานด้วยคิดว่า บิดามารดาปู่ย่าตายายเคยให้ เราไม่ควรทำให้เสียประเพณี เมื่อตายแล้ว ย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นยามา
๔. การให้ทานด้วยคิดว่า เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่สมณะผู้ไม่หุงหา ไม่สมควร เมื่อตายแล้ว ย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต
๕. การให้ทานด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทานเหมือนฤษีครั้งก่อน เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี ๖. การให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานอย่างนี้ จิตจะเลื่อมใสเกิดความปลื้มใจและโสมนัส เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัสดี
๗. การให้ทานเพื่อเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต เมื่อตายแล้ว ย่อมเกิดในพรหมโลก (ชั้นสุทธาวาส) ภายหลังย่อมปรินิพพานในภพนั้นเอง (อรรถาธิบายว่า เขาไม่อาจไปเกิดในพรหมโลกด้วยทานแต่ด้วยจิตอันประดับด้วยทานนั้น เขาทำฌานและอริยมรรคให้บังเกิด ย่อมเกิดในพรหมโลกด้วยฌาน)

อรรถกถาธรรมบท ภาค ๕ กล่าวถึงทาน ๔ ประการ คือ
๑. การให้ทานด้วยตน ไม่ชักชวนผู้อื่น ย่อมได้โภคสมบัติ ไม่ได้บริวารสมบัติ
๒. การชักชวนผู้อื่น ไม่ให้ด้วยตน ย่อมได้บริวารสมบัติไม่ได้โภคสมบัติ
๓. การไม่ให้ด้วยตน ทั้งไม่ชักชวนผู้อื่น ย่อมไม่ได้โภคสมบัติไม่ได้บริวารสมบัติ
๔. การให้ด้วยตน ทั้งชักชวนผู้อื่น ย่อมได้ทั้งโภคสมบัติทั้งบริวารสมบัติ

อรรถกถา กล่าวว่า ทานที่มีผลมาก ประกอบด้วยองค์ ๓ คือ
๑. ผู้รับมีศีลมีคุณธรรม
๒. ของที่ให้ ได้มาอย่างสุจริต มีประโยชน์และสมควรแก่ผู้รับ
๓. มีเจตนาบริสุทธิ์ มีจิตใจที่ยินดี แจ่มใส เบิกบาน ทั้งก่อนให้ขณะให้ และ เมื่อให้แล้ว

อรรถกถา กล่าวว่า ผลแห่งบาปจะมากหรือน้อยขึ้นกับองค์ ๓ คือ
๑. ถ้าคน สัตว์ หรือ สิ่งของที่ล่วงละเมิด มีความดี ประโยชน์หรือมูลค่ามาก บาปก็มาก ถ้าความดี ประโยชน์หรือมูลค่าน้อย บาปก็น้อย
๒. ถ้าความพยายามมาก ก็บาปมาก ถ้าความพยายามน้อยก็บาปน้อย
๓. ถ้าเหตุจูงใจ คือ ราคะ โทสะ โมหะ มาก ก็บาปมากถ้าราคะ โทสะ โมหะ น้อย ก็บาปน้อย

จากหนังสือ กรรมลิขิตรวบรวมเรียบเรียงโดย ธัมมวัฑโฒ ภิกขุวัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพมหานคร
.....
เจริญในธรรม
:> จากคุณ : deedi [ 8 เม.ย. 2543 / 23:00:55 น. ] [ IP Address : 203.146.130.239 ]


ความคิดเห็นที่ 2 : (deedi)

ทานกุศล อาจารย์เรณู ทัศณรงค์

……….

(๑)

ธรรมะที่เป็นความหมายกว้างๆ การที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ก็ถือว่าเป็นโชคลาภมหาศาล คือ การที่เราได้มาเกิดอยู่ในกามสุคติภูมิ คือมนุษย์หรือเทวดา ถ้าจะเปรียบมนุษย์กับเทวดา ต้องถือว่ามนุษย์ได้เปรียบเพราะมนุษย์มีโอกาสทำบุญได้มากกว่า ส่วนเทวดานั้นจะเป็นภพภูมิที่ทำบุญมาก มนุษย์ทำบุญมากก็ไปเกิดเป็นเทวดาก็เสวยสุข เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะปฏิบัติธรรมสู้มนุษย์ไม่ได้ สังเกตได้ว่าพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ในอดีตไม่เคยตรัสรู้ในสวรรค์และเผยแผ่พระศาสนาบนสวรรค์ แต่ว่ามาตรัสรู้ในเมืองมนุษย์ สอนมนุษย์แต่ก็ขึ้นไปสอนเทวดาได้ เทวดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ พระพุทธเจ้าทรงขึ้นไปสอนมาหมด แต่ถือว่าภพมนุษย์เป็นภพที่สร้างบารมีได้มากแต่ว่าในภพภูมินี้ถึงแม้จะมีโอกาสทำความดีได้มาก แต่ท่านก็กล่าวว่า เครื่องผูก หรือสิ่งที่ดึงไม่ให้สัตว์พ้นไปจากสังสารวัฏก็มีมากมาย มีมนุษย์จำนวนมากมายจึงยังเข้าใจผิดกันว่าดีแล้วและไม่อยากพ้นทุกข์ จึงพากันเวียนว่ายตายเกิด จากมนุษย์ไปเป็นเทวดา จากเทวดา มาเป็นมนุษย์ จากมนุษย์ลงไปอบาย เวียนว่ายอยู่อย่างนี้ กลับไปกลับมา ผลสุดท้าย ไปเป็นพรหม คือ ถ้าทำความดีสูงสุดก็ไปเป็นพรหม เมื่อสิ้นอายุของพรหม ก็กลับลงมาอีก กิเลสยังมีก็ไม่ไปไหน เรียกว่า เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏ ไม่จบ จะเกิดเป็นอะไรก็ทุกข์ทั้งสิ้น

ท่านจึงกล่าวไว้ว่า เครื่องผูกหรือดึงสัตว์ทั้งหลาย โดยเฉพาะมนุษย์ให้ติดอยู่ในสังสารวัฏ มีอยู่ ๑๐ ประการ ได้แก่ บิดามารดา สามีภรรยา บุตรธิดาญาติมิตร ทุกคนเกิดมาก็ต้องมี เกิดความผูกพัน ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข (ปัญจกามคุณ คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ทั้ง ๕ ทวาร) สิ่งเหล่านี้ท่านถือว่าเป็นเครื่องผูกไม่ให้สัตว์คิดดิ้นรนที่จะพ้นทุกข์และหลงยึดสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นเรื่องดีเป็นเรื่องให้ความสุข

บางคนบอกว่าเกิดมาขอให้มีพ่อแม่ดี สามีดี ลูกดี แต่ก็ไม่ได้อย่างนั้นบางคนก็ผิดหวังแต่ต้นจนจบ มีพ่อแม่ สามี ลูกก็ไม่สมประกอบ แต่ก็ไม่ได้คิด คิดแต่ว่าทำไมปัจจุบันถึงเป็นอย่างนั้น ที่จริงแล้วก็คือทำเหตุมาไม่ดี

ตรงนี้เอง ถึงจะดีอย่างไรก็ตาม ในพระศาสนาจะสอนว่า ทำอย่างไรเราจึงจะพ้นทุกข์ พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดนี่คือยอดสูงสุดของพระพุทธศาสนา ได้แก่ มรรค ผล นิพพานเพราะเมื่อไปถึงตรงนั้นแล้ว กระแสของการเวียนว่ายจะสั้นลงจะถูกตัด เช่นเดียวกับผู้ปฏิบัติธรรม กำลังตัดกระแสของการเวียนให้ลดลง

ท่านบอกว่า ให้ทำตัวเหมือนนกเขานกกระทา ซึ่งเป็นสัตว์ที่ถูกเลี้ยงอย่างดี ถึงเวลาคนก็เอาอาหารมาให้ นกเขาบางตัวมีกรงราคาสูงมาก อย่างไรก็ตามนกทั้งสองไม่ได้ชอบอยู่ในกรงได้โอกาสเมื่อไหร่ก็จะบินออกตลอดเวลา แม้จะเลี้ยงดีขนาดไหนโดยสภาพของจิตนกเขานกกระทา เปิดกรงเมื่อไหร่ก็จะบินปร๋อทุกที เพราะไม่ชอบอยู่ในกรงขังนั้น

มนุษย์ต้องทำตัวเหมือนนกเขานกกระทานี้ มีโอกาสเมื่อไหร่ต้องหาโอกาสบินออก คือ ออกจากสังสารวัฏให้ได้ อย่ายินดีอยู่กับความสุขที่เราคิดว่าเป็นความสุขทางโลก เพราะความสุขทางโลกหรือโลกียสุข นั้น เป็นความสุขที่ไม่ยั่งยืน ไม่ถาวรและอยู่บนพื้นฐานของความทุกข์เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นผู้ที่ใฝ่ใจ ใฝ่หามีโอกาสได้ปฏิบัติธรรมเสมอๆ ก็กำลังทำตัวเป็นนกเขานกกระทาคือมีโอกาสเมื่อไหร่ก็ปฏิบัติธรรม เพราะการปฏิบัติธรรมนี่แหละที่จะเป็นวิธีแหวกว่ายออกจากวงเวียนหรือวงล้อมของสังสารวัฏได้ คนที่มีอัธยาศัย หรืออุปนิสัย หรือวาสนาบารมีที่สั่งสมมาในอดีตก็จะมีความคิดอย่างนี้อยู่เสมอ บางคนก็ไม่รู้ตัว จริงๆ แล้ว นี่เป็นผลปรากฏซึ่งสามารถวิเคราะห์ได้ว่า คนที่พากเพียรเวียนเข้าเวียนออกกรรมฐานบ่อยๆ นั้น กำลังมีจิตสำนึกลึกๆในตัวว่าเราอยากจะพ้นทุกข์ อยากจะไปจากวงจรของสิ่งที่กำลังแวดล้อมเราอยู่ ดังนั้นการปฏิบัติธรรมจึงถือว่าเป็นเรื่องที่มีคุณค่ามีประโยชน์กับมนุษย์สูงสุดไม่มีอะไรเปรียบ

ท่านผู้รู้กล่าวว่า คนที่รู้จักบุญ ก็จะทำบุญได้เยอะ ทำได้มากคนที่ไม่รู้จักบุญก็มีโอกาสทำบุญได้น้อย เพราะไม่รู้ว่าอะไรคือบุญตรงกันข้าม คนรู้จักบาป ทำบาปได้น้อย เพราะกลัวบาป ส่วนคนไม่รู้จักบาป ทำบาปได้มาก เราจึงเห็นว่า สองประการนี้เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล เป็นเรื่องของวาสนาบารมี

ในครอบครัวเดียวกัน พ่อแม่เดียวกัน คนหนึ่งมีอัธยาศัยน้อมไป(จิตใจฝักใฝ่คิดอยากทำแต่บุญ) ก็ดิ้นรนไปเพื่อที่จะแสวงหาอาหารของใจ (คือบุญ) แต่อีกคนหนึ่งก็เกิดพ่อแม่เดียวกันเลี้ยงดูมาเหมือนกัน แต่ไม่สนใจ และที่สำคัญที่สุด พ่อแม่มักคิดเสมอว่าทำไมลูกท้องเดียวของเราไม่เหมือนกัน นี่เป็นข้อคิดว่าเราทุกคนมานี้ ต่างคนต่างมา แต่ต้องมาเกิดร่วมกัน อาจเป็นกุศลอันหนึ่ง บางทีก็เป็นกรรมร่วมกัน บางทีก็เป็นบุญร่วมกันที่เราต้องมาเกิด ถ้าเป็นบุญร่วมกัน เรียกว่า ประเภทสั่งสมความดีมาด้วยกัน ก็มาร่วมกันเสวยบุญ แต่อีกพวกหนึ่งสร้างกรรมมาร่วมกัน ก็มาพบกัน แล้วก็มาใช้หนี้กัน ดังนั้น คนที่มีลูก ให้สังเกตถ้าเจ้าหนี้เรามาก็จะเบิกตั้งแต่เกิดจนตายจากกัน เบียดเบียนกันไป จะแก้ไขอย่างไรก็ตาม เพราะว่ากรรมที่ทำมาร่วมกัน เค้ามาเพื่อจะเรียกทุนคืน ตรงกันข้าม ถ้าลูกหนี้มาหรือเคยสร้างกุศลร่วมกับเรามา เค้าก็มาเพื่อจะให้ความชื่นใจ ให้ความสุข อุปถัมภ์บำรุง

ดังนั้น ทั้งหมดจึงขึ้นอยู่กับการกระทำ ถ้าทำบุญร่วมกันมา ก็มาพบกันในจุดดี ทำบาปร่วมกันมา ก็ต้องไปพบกันในเรื่องของบาป

…………… จากคุณ : deedi [ 8 เม.ย. 2543 / 23:02:22 น. ] [ IP Address : 203.146.130.239 ]


ความคิดเห็นที่ 3 : (deedi)

(๒)

การทำความดีหรือทำบุญกุศลนั้น ถ้าในหลักของพุทธศาสนาถ้าเรียกละเอียดเรียก บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ แต่ย่อสั้นๆ ได้ ๓ ข้อคือการให้ทาน การรักษาศีล การเจริญภาวนา

แต่ถ้าพูดถึง ศีล สมาธิ ปัญญา แล้ว จะย่อมาจาก อริยมรรค ประกอบด้วยองค์แปด ในหัวข้อของการภาวนา
ความดีหรือบุญที่เราจะทำ ที่ทำง่ายอันดับต้นของศาสนาพุทธก็คือสอนให้ทำทาน เพราะว่าการทำทานนี้ ง่ายทำได้ง่ายกว่าอย่างอื่นแต่ท่านก็สอนให้รู้จักให้ทานให้เป็นด้วย

ทาน แปลว่า การให้ การเสียสละ
๑. ให้ปัจจัยสี่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยาแก้ไข้ ที่อยู่
๒. ให้ธรรมทาน เช่น การแสดงธรรม ถือว่าให้ธรรมะเป็นทาน
๓. ให้อภัยทาน

ทานโดยเฉพาะที่เราทำกันมากคือให้ปัจจัยสี่ ที่เราอุปถัมภ์บำรุงศาสนาอยู่ในทุกวันนี้ บางคนถือว่าการใส่บาตรทุกเช้านั้นไม่จำเป็น แต่ที่จริงแล้วการใส่บาตรทุกเช้านี้เองจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เราไม่อดอยากในเรื่องอาหาร ถ้าใครมีโอกาสก็น่าจะทำ แต่ถ้าไม่ได้จริงๆ อาทิตย์ละครั้งก็ได้เพราะการใส่บาตรอาหารบิณฑบาต ถือเป็นอาจิณณกรรม คือทำบ่อยๆแล้วจะไม่อดอยากเรื่องอาหาร ทุกภพทุกชาติ หรือไม่เช่นนั้นก็จะได้เกิดในย่านที่อาหารอุดมสมบูรณ์ ขณะที่บางคนอยู่ไกล ลำบากในการหาอาหารรับประทานแต่ละมื้อ

การให้ทาน ให้อะไรก็ได้ที่มีอยู่

สิ่งของที่จะทำทาน มีอยู่ ๓ ระดับ
๑. ของที่ไม่ดี เรียกว่า ทาสทาน
๒. ของที่เหมือนกับที่เรากินเราใช้อยู่ เรียกว่า สหายทาน
๓. ของที่ดีกว่า สมบูรณ์กว่า เรียกว่า สามีทาน

พระพุทธองค์สอนไว้ ว่าถ้าเราเอาของไม่ดีไปให้ทาน เราก็จะได้ของไม่ดีเข้ามา จะเป็นอะไรก็แล้วแต่ อาจเป็นสิ่งของก็ได้ คนก็ได้ ที่ไม่ดีๆเข้ามา ดังนั้น อย่างน้อยที่สุดเอา สหายทาน อย่างที่เราใช้

ถ้าเป็นการให้ทานด้วยผ้าแพรพรรณ จะทำให้เป็นผู้มีผิวพรรณงาม การทำทานก็มีอานิสงส์แยกกัน ให้ทานด้วยหยูกยาอาหารก็จะเป็นคนไม่ค่อยเจ็บไข้ ให้ทานด้วยประทีปโคมไฟแสงเทียนแสงสว่างก็จะมีสติปัญญา (ให้แสงสว่างชื่อว่าให้ดวงตา คนที่บริจาคตาก็ได้อานิสงส์ทำให้มีปัญญา ธรรมจักษุ ได้ดวงตาเห็นธรรม) ให้ทานด้วยยวดยานพาหนะรองเท้าร่มก็จะได้ความสุข

ถ้าเราทำอะไรดีเราดูเราจะเห็นเอง คนที่ให้หยูกยาก็จะไม่ค่อยเจ็บไข้ได้ป่วย ทานนี้ ท่านเน้นว่า ปัจจัยสี่ คือ การให้ที่อยู่ที่อาศัยก็ถือว่าให้ความสุขเหมือนกัน ดังนั้น คนที่สร้างสถานปฏิบัติธรรมก็จะมีความสุขเพราะได้ให้ความสุขแก่ผู้ปฏิบัติธรรม ดังนั้น ปัจจัยสี่จึงถือเป็นทานอันหนึ่งที่ถือว่าควรจะทำ

-ธรรมทาน-การให้ธรรมะเป็นทานชนะการให้ทุกอย่าง เพราะ การให้ธรรมะเป็นทานทำให้เกิดความรู้ ได้สติปัญญา และอีกอย่าง การให้ธรรมทานเรียกว่าให้สิ่งที่ไม่ตาย ไม่หมด เหมือนเราฟังแล้วเราเกิดความเข้าใจ เราก็สามารถที่จะไปทำในสิ่งที่ถูกต้องดีงามได้ เรารู้ว่าอะไรไม่ดีก็ลด ละ เลิก ก็เป็นในระดับหนึ่ง แต่ที่สำคัญท่านถือว่าการให้ธรรมะเป็นทานนั้น เป็นการสร้างพัฒนาบุคคล เหมือนอย่างที่พระพุทธองค์เทศน์โปรด บางคนก็บรรลุธรรมก็พ้นทุกข์ไปเลย บางคนบรรลุธรรมในขั้นต่ำ ก็รู้เพียงทำบุญทำกุศล จึงถือว่าการให้ธรรมเป็นทานนั้น ชนะการให้ทั้งปวง

-อภัยทาน-คนจะให้อภัยทานได้คือไม่ผูกโกรธ ไม่อาฆาตพยาบาท ก็ต้องอาศัยการฟังธรรมปฏิบัติธรรม จึงจะสามารถอโหสิกรรม ไม่ถือโทษ ไม่ผูกอาฆาตพยาบาทคนอื่นได้

ทานทั้งสามประการ ถือว่าเป็นเรื่องที่ผู้ปฏิบัติธรรมต้องเข้าใจและหมั่นปฏิบัติ เพราะอานิสงส์ของทานนั้น ท่านถือเป็นเสบียงการเดินทาง เราจะไปไหนก็ขาดเสบียงไม่ได้ ทาน การกุศล เป็นเสบียงเดินทางท่องเที่ยวในสังสารวัฏ คนที่เกิดคาบช้อนทองมาเกิด ท่านอุปมาให้ฟังว่าคนหนึ่งให้ทานมากอีกคนไม่เคยเลย จิตสองดวงนี้พอตายคือจุติจากภพนี้ปุ๊บสมมุติว่าไปที่บ้านเดียวกัน คนที่ทำทานจะไปเกิดบนตึกคนที่ไม่เคยทำทานหรือเรียกว่าขาดทานกุศลจะไปเกิดที่ข้างล่าง ไม่ไปขึ้นข้างบนอานิสงส์ขึ้นไม่ถึง เพราะคนรวยนั้นเค้าทำทานไว้มาก เกิดมาก็ได้เสวยผลบุญเลย จึงดูคนได้ตั้งแต่เลือกที่เกิด ที่ไปอยู่สูงก็เพราะบุญเค้าทำมาดีส่งให้ไปอยู่เสวยสุขสมบูรณ์ การให้ทานจึงส่งเสริมให้เราเกิดในที่สุข สบายสมบูรณ์ สะดวกสบายในการดำเนินชีวิต

แม้ปัจจุบันก็เช่นกัน ท่านถือว่า ทานเป็นการตัดความโลภ ลดความโลภทานที่จะให้ผล หนึ่งเจตนาเราต้องสมบูรณ์ ก่อนให้ – กำลังให้ – ให้แล้วให้ได้ครบสามกาล

ก่อนให้ คือ วันนี้คิดจะใส่บาตร คิดปุ๊บกุศลจิตก็เกิดแล้ว พรุ่งนี้จะเอาอะไรใส่บาตร กุศลจิตเกิดแล้วก่อนทำ เรียก ปุพเจตนา กำลังใส่ พระกำลังมา เรียกกำลังใส่ บุญจากเจตนา กำลังทำ อปราปรเจตนา ทำแล้ว สาม อิ่มใจ ปีติในสุขที่ได้ทำบุญ ถ้าทั้งสามกาลนี้ เสียตอนใดตอนหนึ่งเวลาให้ผล ก็ให้ผลไม่เท่ากัน ก่อนทำเจตนาดี ให้ผลตั้งแต่อายุ ๑ ถึง ๒๕ ปีกำลังทำ ให้ผล ๒๕ ถึง ๕๐ ทำแล้ว ๕๐ ถึง ๗๕ ให้ลองสังเกตชีวิตคนเราตามช่วงทั้งสามกาลนี้ ดังนั้นก่อนทำ กำลังทำและเมื่อทำแล้ว ก็ให้เป็นทานที่บริสุทธิ์ไปเลย ถ้าใครทำดีทั้งสามกาล ก็จะดีตลอด

ฝ่ายผู้รับ ถ้าท่านมีศีลดี บริสุทธิ์ ทานของเราก็ให้ผลมาก ดังนั้น ท่านจึงให้ถวายสังฆทานมากกว่าบุคลิกทาน ทำสังฆทานจะให้บุญมากเพราะเราไม่เจาะจงใจจึงบริสุทธิ์มากกว่า

………. จากคุณ : deedi [ 8 เม.ย. 2543 / 23:03:36 น. ] [ IP Address : 203.146.130.239 ]


ความคิดเห็นที่ 4 : (deedi)

(๓)

อีกประการ การให้ทานท่านว่าต้องทำให้เร็วที่สุด คิดอะไรแล้วอย่าช้าท่านว่าถ้าช้าแล้วอกุศลจะมาตัด ทำบุญจึงให้ทำเร็วที่สุดแล้วก็จะได้ผลเร็ว สิ่งที่เราทำเร็วที่สุดนั้นเวลาได้อะไรก็ได้เร็ว จะไม่มีอะไรมาตัดแล้วก็ได้สมบูรณ์ และเวลาทำบุญ อย่าลังเลว่าจะทำดีหรือไม่ทำดี

สมัยพุทธกาล จูเฬกะสาฎกพราหมณ์ จนมาก สองสามีภรรยามีผ้าห่มผืนเดียว (พราหมณ์ไปไหนต้องมีห่มผ้า คือ มีผ้านุ่งและมีผ้าห่ม) วันนั้นจูเฬกะสาฎกพราหมณ์ไปฟังเทศน์พระพุทธองค์ ฟังไปก็รู้และเข้าใจไปด้วย ฟังไปก็รู้ว่าเรายากจนเพราะไม่เคยทำทาน ชาตินี้จึงน่าอนาถเอน็จนัก สองคนออกจากบ้านพร้อมกันไม่ได้เพราะมีผ้าห่มผืนเดียววันนี้เราจึงมาฟังธรรมคนเดียวเพราะภรรยาไม่มีผ้าห่ม เพราะเราไม่ได้ทำทานนี่แหละ คิดปุ๊บได้ว่าอย่ากระนั้นเลย เอาผ้าห่มที่เรามีอยู่ผืนเดียวนี้แหละ ถวายพระพุทธเจ้าเสียเลย พอคิดปั๊บ อกุศล ตัวความตระหนี่มัจฉริยะก็ขึ้นมาทันทีว่า ให้ไปแล้ว แล้วเราจะเอาอะไรห่มเล่า ยิ่งร้ายไปกว่านั้น ภรรยาที่อยู่บ้านจะเอาอะไรที่ไหนมาห่ม อย่าเพิ่งให้เลยว่าแล้วก็ฟังธรรมต่อ ฟังไปจนถึงตอนกลางก็คิดขึ้นมาอีกว่า ก็เพราะอย่างนี้นี่เองเราถึงจนอยู่อย่างนี้ ให้ไปเถอะน่า ถึงจนไม่มีก็ค่อยหาใหม่แต่ก็คิดขึ้นมาอีกว่า ถ้าให้ไปแล้วแล้วหาใหม่ไม่ได้เราทั้งสองคนก็จะไม่มีอะไรห่ม ตัวตระหนี่มัจฉริยะความหวงแหน ตัดไม่ลง นั่งฟังไปจนจะจบ ให้ก็ให้เถอะน่า ไม่ให้วันนี้ก็ไม่รู้จะได้ให้วันไหนแล้ว จึงดึงผ้าออกมา พับเสร็จ ถือผ้าประกาศว่า “ชิตังเม ชิตังเม” ร้องประกาศในที่ประชุม ชิตังเมแปลว่า “ข้าพเจ้าชนะแล้ว” แล้วก็นำผ้าไปถวายที่พระบาทของพระพุทธเจ้า

พระเจ้าปเสนทิโกศลนั่งอยู่ในห้องประชุมนั้นด้วย ก็ถามว่าใครร้องเสียงอะไร จึงทรงให้ไปเรียกมาถามว่าชนะอะไร ก็ให้มาเข้าเฝ้าจึงทรงถามว่า พราหมณ์ เธอร้องว่าชนะแล้วน่ะชนะอะไร จูเฬกะสาฎกพราหมณ์จึงตอบว่า ข้าพระองค์ชนะความตระหนี่พะยะค่ะ ทำไมถึงว่าชนะ ก็เพราะมีอยู่ผืนเดียวตั้งแต่ต้นจนเกือบท้ายจึงตัดสินใจได้ ชนะความตระหนี่แล้วเอาไปถวายพระพุทธเจ้า

พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงชื่นชมว่าพราหมณ์นี้ศรัทธาแก่กล้า ผ้าผืนเดียวยังตัดใจได้ จึงเรียกอำมาตย์มาบอกว่าให้ไปจัดบ้านส่วยสี่หลังทาสชายสี่คน ทาสหญิงสี่คน ช้างสี่ม้าสี่ อะไรๆ อย่างละสี่ ได้รับพระราชทานวันนั้น ขณะนั้น รวยทันทีทันตาเห็น

เขาจึงโจษกันว่าทำไมถวายผ้าผืนเดียวจึงได้อย่างนี้และอย่างรวดเร็วด้วยพระพุทธองค์ถ้ามีเรื่องอย่างนี้ท่านจะทรงไขปัญหา จึงทรงแสดงธรรมโปรดว่าที่จูเฬกะสาฎกพราหมณ์ได้อย่างละสี่นี้ยังน้อยไป ถ้าหากตัดสินใจได้ตั้งแต่ยามต้น จะได้อย่างละสิบหก ถ้าตอนกลางจะได้อย่างละแปดนี่เป็นตอนท้ายจึงได้อย่างละสี่

ถามว่าทำไมจึงได้ผลทันที หนึ่ง (ปัจจัย) ของบริสุทธิ์ ไม่ได้ไปคอรัปชั่น ไม่ได้ไปโกงใครมา ของส่วนตัว มีอยู่เท่านี้ เรียกว่าของบริสุทธิ์ มีค่าสำหรับเขา เรียกว่าปัจจัยบริสุทธิ์ และ (เจตนา) เจตนาก็บริสุทธิ์ เพียงแต่เจตนาช้าไปหน่อยและที่ได้ผลเร็วเพราะพระพุทธเจ้าเป็นเนื้อนาบุญที่สูงสุด ถวายเฉพาะพระพักตร์อานิสงส์จึงแรง เร็วและมาก (ผู้รับ)
ท่านบอกว่า“จงตัดโลภ (เพราะโลภจึงมีความหวงแหน โลภะตัวนี้ชื่อว่าเป็นรากเหง้าของอกุศลกรรมทั้งมวล อกุศลจิตทั้ง ๑๒ ตัว หรือ ตัณหาในสมุทัย ท่านยกเอาโลภะเจตสิกตัวเดียว ร้ายที่สุด โลภไม่ได้จึงเกิดโทสะ และในโลภก็มีหลงอยู่ด้วย ดังนั้นโมหะจึงทำงานตลอด แต่เวลายกเอาเป็นตัณหาสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ เอาโลภะเป็นตัวตั้ง) ด้วยทานการเสียสละ ตัดโทสะด้วยเมตตาเพิ่มราศรี ตัดความหลงด้วยปัญญาบารมี เป็นความดีที่ควรทำประจำกาล”

ทานเป็นการตัดตัวโลภะ เราทำกันมากแต่ก็ไม่ค่อยเข้าใจกัน เข้าใจไม่ค่อยละเอียด การให้ทานนี้ ท่านว่า “ให้ทานด้วยศรัทธา จะร่ำรวยและรูปสวยให้ทานด้วยความเคารพพร้อมทั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม (เช่นเวลาจะให้ทานก็น้อมเข้าไป ใส่บาตรถอดรองเท้า ทำให้เรียบร้อย คือพร้อมด้วยองค์สาม คือ กาย วาจาและใจ) บริวาร (คนที่อยู่ร่วมกับเรา) จะอยู่ในอำนาจ ให้ทานตามกาล ตามเวลา (เช่น เวลานี้ ฤดูนี้ควรทำอะไร เช่นฤดูกฐิน มีเพียงช่วงเดียว อย่างนี้เรียกกาลทาน หรือเช่นผลไม้ที่มีตามฤดู เช่น เดือนห้าเดือนหก มะม่วงออกแรก เราเอาไปทำบุญก่อน หรืออะไรออกใหม่ๆ ต้นๆ เอาไปทำบุญ ทำของที่เกิดขึ้นใหม่ๆ และเป็นของดีด้วย หรือจะเป็นบางเวลา เช่นเขามาเรี่ยไร ทุกคนจะเจอ เช่นซองผ้าป่า ถ้าเห็นซองควรขอบคุณโมทนาสาธุที่เค้าเอาบุญมาให้เราอย่าไปรังเกียจ ทำน้อยทำมากตามกำลัง สาธุใส่ไปตามกำลัง อย่าทำไปด้วยรังเกียจไปด้วย บางทีก็รังเกียจคนที่มาบอกบุญ บุญที่ทำก็เลยเปื้อนไปด้วย บางคนบอกว่าไปถึงที่ทำงานตอนเช้าเจอซองผ้าป่าเป็นตั้ง ขี้เกียจรำคาญก็นำมารวมๆ กันไว้แล้วก็ทำไป อย่างนี้ เรียกว่า“ทำทิ้ง” คือไม่ได้หรือได้ก็ได้ของไม่ดี เพราะฉะนั้น ต้องเคารพในทานของเรา จะห้าบาท ยี่สิบบาทหรือเท่าไหร่ก็จบให้ดี “ทานกุศลของข้าพเจ้านี้จงเป็นปัจจัยให้สิ้นกิเลส” เอาข้อสำคัญที่สุดไว้ก่อน นี้เรียกว่าทำทานตามกาล) ทำบุญให้ทานตามกาล เวลาปรารถนาอะไร จะได้เร็ว ไม่ขัดข้องให้ทานด้วยการสงเคราะห์ น้ำท่วม ไฟไหม้ เค้าอดอยากลำบาก จะเป็นคนที่ไม่อดอยาก จะมีคนสงเคราะห์อนุเคราะห์ในยามที่เราเกิดความต้องการ ให้ทานเพื่อบูชา เพื่อสักการะทดแทนบุญคุณ อันนี้จะเป็นเหตุให้ร่ำรวยและอุดมสมบูรณ์ มีความสุข

………. จากคุณ : deedi [ 8 เม.ย. 2543 / 23:04:48 น. ] [ IP Address : 203.146.130.239 ]


ความคิดเห็นที่ 5 : (deedi)

(๔)

เรื่องของทานให้ไปศึกษาหาอ่านเพื่อให้ได้คุ้มค่า ทำน้อยได้มาก เพราะบางคนทำบุญได้บาปก็มี อย่างการไม่เข้าใจ เอาของไม่สมควรไปถวายพระ นี่ก็บาปเพราะไปทำให้ท่านย่อหย่อนวินัยลง บางคนก็ถือวิสาสะถาม “หลวงพี่ชอบอะไร จะได้แกงมาถวาย” อย่างนี้ก็ผิด เพราะตามหลักแล้วไปบอกไม่ได้ จะแกงอะไรก็แกงไปแต่อย่ามาบอก ถ้าบอกก็คือท่านสมรู้ร่วมคิดกับเรา ยิ่งบางองค์ท่านก็ไม่ค่อยเข้าใจ ก็จะหย่อนยานเพราะถือวิสาสะ คนที่ไปใกล้พระจึงต้องระมัดระวังเพราะเราไม่รู้ว่าอะไรผิดถูก ก็ไม่รู้ตัวว่าทำบาป

หลวงพ่อเจ้าประคุณสมเด็จฯ (พระพิมลธรรม วัดมหาธาตุ) จะเน้นมากจุดที่หนึ่งคือโต๊ะบูชาจะทรงสอนสมภารทุกวัดที่ไปเยือนว่าจำไว้ว่าวัดเป็นวัดของพระพุทธเจ้า โต๊ะบูชาต้องทำให้สะอาดเรียบร้อย ต้องถือว่าเราบูชาพระพุทธเจ้า วัดเป็นของพระพุทธเจ้า ต้องทำด้วยความเคารพจึงควรจำไว้ว่าโต๊ะบูชาที่บ้าน จะเล็กใหญ่ไม่สำคัญแต่ต้องทำให้สะอาดเป็นสำคัญ และยังเป็นการพัฒนาจิตเราให้ปราณีต บริสุทธิ์ขึ้น ดังนั้น ต้องสะอาดจึงจะเป็นมงคล ธูปปักไว้สามดอก (พระวิสุทธิคุณพระปัญญาคุณ พระมหากรุณาธิคุณ จะจุดก็ได้ไม่จุดก็ได้แต่ให้ระลึกถึงความหมาย) เทียนสองเล่ม (เช่นกัน ไม่จุดก็ได้ เอาไว้ระลึกแทนพระธรรม พระวินัย) ดอกไม้ (แทนพระสงฆ์) เปลี่ยนและพยายามใช้ดอกไม้สดถ้าเป็นไปได้

โต๊ะหมู่บูชาจึงควรทำให้สะอาด เพราะเราถือว่าพระพุทธเจ้าคือสูงสุดแล้วที่ต้องเคารพบูชา ท่านว่าถ้าบ้านเราตั้งโต๊ะหมู่บูชาและไหว้พระเป็นประจำ บ้านนั้นจะเป็นสิริมงคล ท่านกล่าวว่าในเวลาที่ท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่จะลงมาตรวจโลกมนุษย์ ท่านจะดูว่าบ้านไหนมีโต๊ะหมู่บูชาไหว้พระหรือไม่ ถ้ามีบ้านนั้นก็จะได้สิริมงคลคุ้มครองบ้านไหนที่ไม่มีสิ่งที่เป็นมงคลเหล่านี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคืออุบัติเหตุเภทภัยความเจ็บไข้ได้ป่วยในบ้านจะมี ให้ลองสังเกตดู

ดังนั้น ถ้าทำได้ ไม่จำเป็นต้องไปหาซื้อโต๊ะหมู่ราคาแพงๆ ตรงไหนก็ได้ที่สะอาดเรียบร้อยคิดว่าเหมาะสมที่จะนั่งไหว้พระ ขอให้มีมุมหนึ่งในบ้าน เหมือนกับมีพระรัตนตรัยอยู่ในใจของเรา อันนี้เป็นสัญญลักษณ์

อีกอย่างคือ การทำบุญทำทานจะได้ไม่ผิดพลาด ให้เหมาะให้ควร และรู้ประมาณด้วย ให้คิดว่าแบบนี้เหมาะสมจะทำเท่าไหร่ อย่าคิดว่าทำมากจะได้มาก แต่ให้เข้าใจว่าทำเร็วสำคัญกว่า น้อยแต่ทำเร็วจะได้ผล คำว่าน้อยหรือมากในเรื่องของบุญนั้นไม่มี (คือไม่ได้คิดที่ปริมาณ) แต่ว่าการตัดสินใจ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมให้ทานของเราสมบูรณ์ขึ้น
อีกเรื่องที่ควรระวังคืออย่าคิดว่าปฏิบัติธรรม ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแล้วเป็นบุญสูงสุดแล้ว อย่างอื่นไม่ต้องทำแล้ว เลิก ไม่ถูก ต้องทำ เพราะว่า“ศีลเป็นสะพาน ทานเป็นเสบียง” ให้จำไว้อย่างนี้ จะเดินทางไปไหนต้องมีเสบียง pocket money ต้องมีติดกระเป๋า ทานจึงสำคัญ ท่านยกเอาไว้ว่าทำง่ายคือเป็นอันดับต้น ส่วนศีลนั้นละเอียดและทำยากมากกว่าทานและคนที่ทำบุญทำทานก็ต้องรักษาศีลหรือสมาทานศีลก่อนจึงจะไปให้ทาน เวลาเราจะไปวัดพระไม่เคยบอกให้มาถวายทันทีแต่จะให้รับศีลก่อนให้ทานเพื่อให้ทานของเราบริสุทธิ์ขึ้น ศีลจะปฏิบัติได้ยากกว่าทาน

เราสามารถพิจารณาตัวเองได้ว่าอัตคัตขาดแคลนเรื่องอะไร ให้ลองสังเกตตัวเองดู บางคนสมบูรณ์เรื่องอาหารแต่อัตคัดขาดแคลนที่อยู่อาศัย บางคนทำงานจนแก่ไม่มีบ้านส่วนตัวอยู่เพราะไม่เคยสร้างกุฎิหรือที่อยู่ที่พักอาศัยจะขาดอะไรถามตัวเอง ขาดอาหารก็ทำบุญด้วยอาหาร ขาดเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มก็ทำบุญด้วยจีวร

พระพาหิยะเป็นผู้ตรัสรู้เฉียบพลัน คือทันทีที่ได้ฟังธรรมก็บรรลุธรรมเลยแต่ว่าไม่เคยได้ห่มผ้าจีวรเพราะไม่เคยถวายผ้าไตรจีวรเลยในอดีต เมื่อบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้วก็จะไปแสวงหาจีวร แต่ไปถูกแม่โคขวิดตายก่อน พระพาหิยะจึงเป็นพระอรหันต์อยู่ในอัตภาพที่เรียกว่ายังไม่ได้ห่มจีวร การถวายผ้าไตรจีวรเป็นการจองที่หากคิดว่าในอนาคตเราจะบวช หากเป็นหญิงก็จะได้เครื่องประดับที่มีค่า เช่นนางวิสาขาจะได้เครื่องประดับที่มีค่าสูงสุดไม่มีใครเทียบเท่า เพราะอานิสงส์ที่ถวายผ้าไตรจีวรมามาก และอีกประการคือจะทำให้เป็นผู้ผิวพรรณงามจะเป็นถวายผ้าไตรจีวร การซื้อผ้าขนหนูซื้อผ้าไปกราบพ่อกับแม่ เพราะท่านถือว่าพ่อแม่คือพระอรหันต์ในบ้านของเรา แน่นอนที่สุด ทุกปีปีใหม่เสื้อผ้า ผ้าขนหนู อาหารที่ท่านชอบ เอาไปกราบท่าน ถือว่าเราได้ทำบุญกับท่านที่มีคุณธรรมสูง เรียกว่าเนื้อนาบุญของเราตรงนี้สำคัญมาก

สรุปทั้งหมดว่า ถ้าจะเลือกหาผู้รับที่สมบูรณ์ เอาพ่อแม่ของเรา จะทำจะให้อะไรก็ให้พ่อแม่ก่อน ไม่มีสูญ เป็นเนื้อนาบุญที่ดีที่สุดของเราถ้าท่านสิ้นไปแล้วก็อุทิศส่วนกุศลไปให้ท่านแต่ถ้าของใครยังอยู่ก็อย่าช้า รีบทำทานกับพระอรหันต์สององค์นี้

มีคนบอกว่าพ่อแม่รวยกว่าเรา แทนที่จะให้ก็ไปขอที่ท่านมีแทนเอาผลไม้ไปฝากหนึ่งถุงแต่ไปขอสร้อยขอแหวนขอโฉนดที่ดินมาแทนลูกคนหนึ่งเอาแต่โภคทรัพย์หรือโลกียทรัพย์ (โฉนดที่ดิน เงินในธนาคารเพชรนิลจินดา) ปกครองไว้หมด ไม่เคยทำบุญ อีกคนไม่เอาอะไรเลยเอาแต่อริยทรัพย์คือทำบุญมามาก เห็นว่าโลกียทรัพย์ไม่มีประโยชน์ให้ก็เอา ไม่ให้ก็ไม่เอา และไม่อยากได้ ได้มาก็ให้คนอื่นไป

พระพุทธเจ้าทรงบอกว่าทาน คนที่ให้ทาน จะเป็นที่รัก อย่าขอใครถ้าไม่จำเป็น มือสองเท้าสองสมองหนึ่ง ไม่จำเป็นอย่าขอใคร ไม่จำเป็นอย่าขอร้องใคร

ทานเป็นเรื่องแรก และเป็นเรื่องที่ผู้ปฏิบัติธรรมแล้ว ควรเข้าใจทำทำกับพ่อกับแม่ของเรา เงินที่ได้มา หนึ่ง ใช้หนี้เก่า (สมณะชีพราหมณ์บิดามารดา ผู้มีพระคุณ ทดแทนพระคุณท่าน) สอง ให้เขากู้ (ลูกหลานบริวาร สงเคราะห์อนุเคราะห์เขา ให้การศึกษา ดูแลยามเจ็บป่วย)สาม ทิ้งลงเหว (อาหารวันละสามมื้อให้ตนเอง อย่าให้อดอยากหรือฟุ่มเฟือยเกินไป ที่ทุกข์นั้นเพราะเกินประมาณ บำรุงรักษาตัวเองและผู้อยู่ใกล้) สี่ ฝังดิน (ทำบุญ เป็นเสบียงไว้ท่องเที่ยวในสังสารวัฏ ไม่ให้ขาดหรือลำบากหรืออดอยาก)

แบ่งให้เป็นอย่างนี้ และกับพ่อกับแม่ไม่ว่าท่านจะรวยแล้วหรือไม่เราก็ต้องให้ เพื่อเป็นสิริมงคลกับตัวเองและเพื่อเลี้ยงน้ำใจท่านตั้งใจตั้งแต่วันนี้เลยว่าต้องให้ท่านให้ถึงมือท่านให้ได้ ถ้ายังมีชีวิตอยู่น้อยมากไม่สำคัญ พ่อแม่นั้นถึงจะรวยล้นฟ้าแต่ถ้าลูกเอาเงินมาใส่มือจะชื่นใจมีความสุข เราได้บุญตรงนี้ ที่สำคัญที่สุด ถ้าเราทำเช่นนี้ได้ ลูกเราที่เดินตามเรามาจะเห็นว่าเราทำกับพ่อแม่อย่างไรทำให้เค้าดูดีกว่าสอนเค้า สร้างค่านิยมประเพณีและจริยธรรมในครอบครัวเรา ถ้าทำได้ ลูกทุกคนที่เห็นว่าพ่อแม่เคยทำอะไรกับคุณตาคุณยายคุณปู่คุณย่าเค้าก็จะทำตามโดยที่เราไม่ต้องไปเรียกร้องไปสอนไปบอกเลย

………. จากคุณ : deedi [ 8 เม.ย. 2543 / 23:06:01 น. ] [ IP Address : 203.146.130.239 ]


ความคิดเห็นที่ 6 : (deedi)

(๕)

สรุปว่าปัจจุบัน การมาปฏิบัติธรรมเราจะปิดทวารทั้งหมด สักแต่ว่าเห็นได้ยินได้กลิ่นฯ เหมือนกับว่าเราไม่รู้อะไร แต่ที่จริงเรารู้ แต่เป็นเพียงรู้แต่ไม่ปรุงแต่ง ยินหนอ จบ กลิ่นหนอ จบ คิดหนอ จบ จบตรงที่เรากำหนด ฝึกเช่นนี้ เมื่อไปอยู่ในชีวิตประจำวัน สติที่ฝึกไว้นี้สติสัมปชัญญะจะเกิดขึ้นมาทันทีที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้สัมผัสฯลฯและจะชี้ขาดลงไปทันทีว่าการเห็น ได้ยิน ได้กลิ่นฯลฯ นั้นๆ เป็นคุณหรือเป็นโทษ พอเห็นปุ๊บ หิริโอตัปปะ จะเกิดและคอยระงับเราเช่นคิดจะเปิดปากพูดแต่รู้ขึ้นมาว่ากำลังจะส่อเสียด จะเพ้อเจ้อก็จะหยุดทันที บาปทางปากนั้นทำได้เร็วที่สุด อ้าปากเมื่อไหร่ก็ทันที ฝึกเป็นคนใบ้ บอด หนวก ฝึกไว้ให้สติเร็ว ทันความคิดกำหนดได้ทัน ฝึกกำหนดทุกทวาร ออกไปสู่โลกภายนอกก็จะเป็นคนปิดทวารได้โดยอัตโนมัติ เรียกว่าไม่วู่วาม ไม่ทำให้เกิดความทุกข์เดือดร้อนเพราะมีสติคอยยับยั้งทุกทวาร จะโต้ตอบก็มีสติ พูดด้วยสติไม่ใช่ด้วยอารมณ์ จะรู้จักกำหนด กำหนดไปๆฤทธิ์หรืออำนาจกิเลสก็จะลดลงๆ มีสติ พูดด้วยสติ ทุกอย่างก็สงบ โดยเฉพาะกับคนในครอบครัว การปฏิบัติธรรมจึงทำให้เราเป็นคนมีคุณภาพขึ้น เรียกว่าเย็น เมื่อตัวเราเย็นคนอื่นก็จะเย็นไปด้วย

ท่านบอกว่าทำเป็นบอดเสียบ้างในบางครั้ง (เห็นหนอ)ทำเป็นใบ้เสียบ้างในบางหน (ยินหนอ ไม่ต้องตอบ)ทำเป็นหนวกเสียบ้างในบางคน (ยินหนอ ไม่ต้องตอบ โดยเฉพาะคู่สามีภรรยา)ทำเป็นจนเสียได้ในบางกาล (อย่าอวดมั่งอวดมีอย่าทำใหญ่เกินตัว ใช้จ่ายอย่างมีคุณค่า)

ในยามอ่อน อ่อนให้เป็นเหมือนเส้นไหมเอาไว้ผูกเสือโคร่งโยงมาเฆี่ยนเวลาแกร่งให้แกร่งดังวิเชียรจะได้เจียรตัดกระจกได้ดั่งใจ

เอาธรรมะไปใช้กับครอบครัว ครอบครัวก็จะมีความสุข จึงเอาไปใช้ให้เป็น

ถึงเงินบาทจะลอยตัวอย่ากลัวทุกข์ใจใสสุกทุกคนอย่าหม่นหมองปฏิบัติธรรมตั้งในธรรมตามทำนองให้ถูกต้องหนักแน่นเหมือนแผ่นดิน(อย่าหวั่นไหวไปตามอาการของโลก)จะทำการสิ่งใดให้สัมฤทธิ์ทั้งโทษพิษภัยร้ายมลายสิ้นสงบกายวาจาเป็นอาจิณให้พอกินพอรอดตลอดปี
…..
เจริญในธรรม

:> จากคุณ : deedi [ 8 เม.ย. 2543 / 23:07:18 น. ] [ IP Address : 203.146.130.239 ]

0 ความคิดเห็น:

Post a Comment